ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยเกือบต้องเป็น “รัฐในอารักขา” ของอังกฤษ หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2  (อ่าน 3322 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10180
    • ดูรายละเอียด
เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้กองทัพสัมพันธมิตร (14 สิงหาคม พ.ศ. 2488) ไทย ก็อยู่ในฝ่ายผู้แพ้เช่นกัน และเกือบต้องเป็น “รัฐในอารักขา” ของ อังกฤษ

ไทยเกือบเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ?
หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรในเอเชียอาคเนย์ ส่งกองพลอินเดียที่ 7 จำนวน 17,000 คน มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยและบีบให้ไทยเซ็น “ข้อตกลงสมบูรณ์” แบบเร่งด่วน เพราะตราบใดที่ไทยยังไม่เซ็น สถานะสงครามกับไทยและอังกฤษกับเครือจักรภพก็ยังอยู่

ทำให้อังกฤษยังไม่เปิดสถานทูตในไทย ยังไม่ยอมคืนทองและเงินปอนด์ (มูลค่าขณะนั้นประมาณ 265 ล้านบาท) ที่อังกฤษอายัดไว้ที่ลอนดอน, ไทยต้องเลี้ยงดูเสียค่าใช้จ่ายทั้งทหารกองพลที่ 7 และเชลยศึก (ทหารญี่ปุ่นราว 1.2 แสนคน) จนกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะปลดอาวุธและส่งทหารญี่ปุ่นกลับไปหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ ที่ไทยต้องดูแลทั้งทหารสัมพันธมิตร ทหารญี่ปุ่น และเชลยที่ญี่ปุ่นจับไว้

มีการเจรจาระหว่างไทย-อังกฤษ หลายครั้งกว่าจะตกลงกันได้

ด้วยอังกฤษเรียกร้องและปรับโทษไทยค่อนข้างรุนแรง เช่น ในร่างสัญญาครั้งหนึ่ง อังกฤษจะให้ยุบองค์กรทางทหาร ทางการเมือง ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อสัมพันธมิตร จะเข้าปกครอง จะควบคุมเรือสินค้าไทย การฝึกทหาร ฯลฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วนั่นเท่ากับไทยหมดเอกราชอธิปไตยทันที

หรือในการเจรจาอีกครั้งหนึ่งที่กำหนดว่า ไทยต้องให้ข้าวสาร 1.5 ล้านตัน แก่อังกฤษ (มูลค่าขณะนั้น 2,500 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าว เท่ากับปริมาณข้าวที่ไทยผลิต 1 ปี) ไทยต้องจ่ายความเสียหายของฝ่ายอังกฤษในระหว่างสงคราม ต้องเลี้ยงเชลยศึกและทหารสัมพันธมิตรในไทย

จนไทยต้องล็อบบี้ให้สหรัฐช่วย การลงนามจึงเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ที่สิงคโปร์ ผู้แทนไทยกับอังกฤษก็ลงนาม ข้อตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย ซึ่งมีทั้งหมด 24 ข้อ ซึ่งมีสาระสรุปได้ดังนี้

-ยกเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ
-ไทยคืนทรัพย์สินของอังกฤษหรือจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สิน สิทธิ ผลประโยชน์สัมปทานต่างๆ ในไทย ที่เสียหายในระหว่างสงคราม รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้าง และเงินบำนาญของข้าราชการอังกฤษที่ค้าง
-ไทยจะไม่ขุดคลองตัดแหลมทอง (คอคอดกระ) ถ้าอังกฤษไม่ยินยอม
-ห้ามไทยส่งออกข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก จนถึง 1 กันยายน 2490
-ไทยจะมอบข้าวสาร 1.5 ล้านตัน แก่อังกฤษ โดยไม่คิดมูลค่า (ราคาข้าวขณะนั้นตันละ 28 ปอนด์ ปอนด์ละ 60 บาท หรือประมาณ 2,520 ล้านบาท)
-ไทยจะร่วมกับอังกฤษ อินเดีย เกี่ยวกับการร่วมบำรุงรักษาที่ฝังศพเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร
-อังกฤษและอินเดียจะสนับสนุนไทยให้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ
-ทรัพย์สินของญี่ปุ่นและของศัตรูอื่น (หมายถึงเยอรมนี) ยกให้ฝ่ายสัมพันธมิตร
-ไทยร่วมมือจับกุมอาชญากรสงครามให้ฝ่ายสัมพันธมิตร
-กองทหารสัมพันธมิตรได้รับความคุ้มครองทางการศาล
-ให้ความสะดวกทุกอย่างแก่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในไทยโดยไม่คิดมูลค่า (ทั้งค่าอาหาร ที่พัก การเดินทาง การขนส่ง)
-ไทยจะถอนเจ้าหน้าที่พลเรือนและทหารที่อยู่ในดินแดนอังกฤษที่ไทยยึดครอง (หมายถึง 4 รัฐมลายู  (รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี, ปะลิส) เชียงตุง และเมืองพาน) และคืนทรัพย์สินที่ฝ่ายไทยเอาไปจากดินแดนเหล่านี้
-อังกฤษจะเลิกอายัดทรัพย์สินของไทยที่อยู่ในอังกฤษระหว่างสงคราม
-ไทยจะปฏิบัติตามกฎบัตร มติของสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
-ไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยดีบุกหรือยาง

แม้ ไทย กับ อังกฤษ จะเลิกสถานะสงครามต่อกันแล้ว แต่ปัญหาบางข้อยังไม่ยุติ

เพราะยังมีหลายประเด็นที่ต้องเจรจากันต่อ เช่น ค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกิจการของอังกฤษในไทยระหว่างสงคราม เช่น เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดถูกเหมืองแร่ โรงเลื่อย คลังน้ำมัน และบริษัทอังกฤษ เดิมฝ่ายไทยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำ หากสุดท้ายก็ตกลงมอบเงิน 5.2 ล้านปอนด์ (มูลค่าขณะนั้นราว 313 ล้านบาท) ให้อังกฤษไปตกลงกับภาคเอกชนอังกฤษเอง เรื่องจึงยุติ

ส่วนเหตุที่อังกฤษยกเลิกสถานะสงครามกับไทยและไม่ยึดไทยเป็น รัฐในอารักขา นั้นพอสรุปได้ดังนี้

1. การรีบประกาศสันติภาพของไทย (ประกาศในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังสงครามยุติเพียง 2 วัน) ประกาศโดย ดร. ปรีดี พนมยงค์ ในพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 8 เพื่อให้ชาวไทยและชาวโลกทราบว่า ไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย เพราะฝืนเจตจำนงของชาวไทยและผิดรัฐธรรมนูญ (ด้วยมีผู้ลงนามแทนพระเจ้าแผ่นดิน คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียง 2 คน แต่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ได้ลงนาม)

พร้อมจะคืนดินแดนที่ไทยครอบครองให้อังกฤษ (ได้แก่ รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี, ปะลิส, เชียงตุง และเมืองพาน) ไทยจะยกเลิกกฎหมายใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐ อังกฤษ และเครือจักรภพโดยเร็ว ยอมชดใช้ค่าเสียหายโดยชอบธรรม และจะปฏิบัติตามข้อตกลงของสหประชาชาติ

2. ผู้แทนลับของไทย ที่ไปล็อบบี้กับสหรัฐ (พฤษภาคม 2488 – 31 มกราคม 2489) ซึ่งอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส เกรงใจสหรัฐ เพราะระหว่างสงครามสหรัฐได้ช่วยเหลือประเทศทั้งสองเป็นอันมาก เช่น ให้อังกฤษเช่า-ยืมเรือพิฆาต 50 ลำ ไปสู้กับฝ่ายเยอรมนี เมื่อสหรัฐประกาศสงครามกับญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ยังช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรให้รถถัง เครื่องบิน เรือรบ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อสหรัฐทักท้วงเรื่องข้อตกลงสมบูรณ์แบบ อังกฤษก็ยอมผ่อนปรนท่าที

3. ไทยทำคุณไถ่โทษต่ออังกฤษ เช่น รีบคืนดินแดน 6 แห่งให้ โดยที่อังกฤษไม่ได้เรียกร้อง, ยอมบริจาคข้าวสาร 240, 000 ตัน (มูลค่าขณะนั้น 480 ล้านบาท) ให้สหประชาชาติโดยผ่านอังกฤษ ไปช่วยอาณานิคมที่กำลังอดอยากเดือดร้อนมาก อันเนื่องมาจากสงคราม ฯลฯ

4. ผลงานของเสรีไทย 80,000 คน ที่ช่วยส่งข้อมูลทางการทหารของญี่ปุ่นไปให้สัมพันธมิตร และเตรียมพร้อมจะลุกฮือโจมตีญี่ปุ่น

5. การช่วยเหลือของคนไทยต่อเชลยศึกและกรรมกรที่มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ เชลยศึกมีทั้งเชลยที่ญี่ปุ่นจับมาจากสิงคโปร์ ชวา ฯลฯ ที่ทุกข์ทรมานมากจากงานและโรคภัย แต่ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค หากมีบันทึกคำให้การของเชลยศึกในศาลอาชญากรสงคราม ปรากฏเรื่องความเมตตาของคนไทยที่ช่วยเหลือเชลยศึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอังกฤษ ออสเตรเลีย ดัตช์ นิวซีแลนด์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัมพันธมิตรซาบซึ้ง ไม่อยากลงโทษไทยอย่างที่อังกฤษต้องการ


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศ. สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “สงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยรอดจากการยึดครองของญี่ปุ่น แต่เกือบเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2565.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2566
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม