ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อตกลงฉบับประะวัติศาสตร์ของอังกฤษและรั่งเศสให้สยามเป็นรัฐกันชน  (อ่าน 3367 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10180
    • ดูรายละเอียด
แม้อังกฤษและฝรั่งเศสจะเป็นคู่แข่งกันในการล่าอาณานิคม แต่ในเกมแข่งขันอำนาจยุคจักรวรรดินิยมย่อมไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองชาติมหาอำนาจจึงตกลงร่วมกันให้สยามเป็นรัฐกันชน

อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นศัตรูกันมาอย่างยาวนานหลายยุคสมัย แต่พลันที่ทั้งสองชาติจับมือร่วมกัน การสานผลประโยชน์หลังจากนั้นก็ตามมา โดยหลังจากฝรั่งเศสตัดสินใจร่วมรบอยู่ข้างเดียวกับอังกฤษในสงครามไครเมีย (Crimean War, 1853-1856) จนได้รับชัยชนะเหนือรัสเซีย รวมทั้งการร่วมเป็นพันธมิตรในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (Second Opium War, 1856-1860) ที่จีน ทำให้ทั้งสองชาติกลายเป็นสองมหาอำนาจที่แข่งขันกันในเชิงในอันที่จะประกาศศักดาของตนเอง ไม่ต้องการปะทะกันซึ่งหน้า และปราศจากการขัดขวางของอีกฝ่าย

อังกฤษและฝรั่งเศสจึงต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันนอกทวีปยุโรป

หลังเกิดวิกฤตการณ์ “ร.ศ. 112” เมื่อปี 1893 สั่นคลอนเสถียรอำนาจเหนือดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การดำเนินนโยบายอันแข็งกร้าวของฝรั่งเศสอยู่ในสายตาของอังกฤษโดยตลอด เนื่องจากพื้นที่ใหม่ของลาวตอนเหนือที่ฝรั่งเศสเพิ่งได้ไปนั้นทำให้มีพรมแดนประชิดกับพม่าตอนเหนือในครอบครองของอังกฤษ ซึ่งนี่อาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดกระทบกระทั่งกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

ทั้งสองชาติจึงหันไปตกลงกันอย่างลับ ๆ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันอันจะเป็นเกราะป้องกันความบาดหมางที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต บนบริเวณพื้นที่ โดยต่างไม่เห็นความจำเป็นจะต้องแจ้งให้สยามรับรู้ อังกฤษเป็นฝ่ายเสนอต่อฝรั่งเศสที่จะปล่อยให้สยามเป็นรัฐกันชน

นำไปสู่การทำปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ปี 1896 (Anglo-French Declaration 1896)

ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์มีใจความดังต่อไปนี้

หนังสือปฏิญญาฤๅหนังสือสัญญา

ในระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

ได้ทำไว้ที่กรุงลอนดอน ณ วันที่ 15 มกราคม

รัตนโกสินทรศก 114

ด้วยผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้ คือ มาร์ควิส ออฟ ลอลสบุรี เสนาบดีว่าการต่างประเทศของสมเด็จพระนางเจ้าราชินีอังกฤษฝ่ายหนึ่ง กับบารอนเดอคัวร์เซล เอกอรรคราชทูตของรีปับลิกฝรั่งเศส ณ สำนักกรุงลอนดอนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้รับอำนาจจากคอเวอนเมนต์ทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องแล้ว จึงได้ลงชื่อไว้ในคำปฏิญญาดังมีอยู่ต่อไปนี้

ข้อ (1) คอเวอนเมนต์ของสมเด็จพระนางเจ้าราชินีอังกฤษกับคอเวอนเมนต์รีปับลิกฝรั่งเศสสัญญาต่อกันไว้ว่าเมื่อยังไม่ได้ยินยอมพร้อมกันแล้ว ถึงแม้จะมีการอย่างใด ๆ ก็ดีฤๅเหตุใดก็ดี ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวจะไม่ยกกำลังประกอบด้วยเครื่องสาตราวุธ ล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนทั้งหลายเหล่านี้ คือพื้นดินที่น้ำไหลจากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง กับลำน้ำลำคลองทั้งหลาย ที่ติดต่อกับแม่น้ำทั้งปวงนี้ กับทั้งที่ฝั่งทะเลตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณจนถึงเมืองแกลงแลที่ดินซึ่งน้ำไหลตกลำน้ำบางตพาน กับลำน้ำพะแสซึ่งเมืองทั้งสองนี้ตั้งอยู่แล้วทั้งที่ดินที่น้ำไหลตกลำน้ำลำคลองอื่น ๆ ซึ่งไหลลงในทุ่งฤๅอ่าวตามชายฝั่งทะเลที่กล่าวมานี้ด้วย กับอีกทั้งที่ดินซึ่งตั้งอยู่ข้างเหนือที่น้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยาแลตั้งอยู่ในระหว่างพรมแดนฝ่ายอังกฤษกับฝ่ายไทยลำแม่น้ำโขงกับที่ดินฟากตะวันออกซึ่งน้ำไหลตกลำน้ำแม่อิงนั้นด้วย

อีกประการหนึ่งสัญญากันไว้ว่า จะไม่คิดหาอำนาจแลหาผลประโยชน์วิเศษภายในเขตรที่ดินนี้ซึ่งจะเปนอันไม่ได้รับเสมอเหมือนกันฤๅ ซึ่งจะเปนการที่ไม่ให้ฝ่ายอังกฤษและฝ่ายฝรั่งเศสกับคนชาวเมืองของสองประเทศ แลคนที่พึ่งพาอาไศรยในสองประเทศนั้นได้รับผลเท่ากันด้วย แต่ข้อสัญญานี้จะไม่ตีความไปตัดทอนลดหย่อนข้อวิเศษทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ตามความในหนังสือสัญญาฝรั่งเศสกับกรุงสยาม ลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 อันว่าด้วยการในแถบพื้นที่ 25 กิโลเมตร ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง แลว่าด้วยการเดินเรือในลำแม่น้ำนั้นด้วย

ข้อ (2) ความที่กล่าวไว้ในข้อก่อนนี้ จะไม่เปนที่ขัดขวางต่อการที่ประเทศทั้งสองจะยินยอมกันต่อไปอันเปนการที่ประเทศทั้งสองคิดเห็นว่าจำเปนจะต้องรักษาความเปนอิสรภาพของกรุงสยามไว้ด้วย แต่ว่าประเทศทั้งสองนี้สัญญากันไว้ว่าจะไม่แยกกันไปทำสัญญาที่ยอมให้ประเทศอื่นอีกประเทศหนึ่งไปทำการ ที่ประเทศทั้งสองนี้ต้องงดเว้นเองตามหนังสือสัญญานี้ด้วย

ข้อ (3) ตั้งแต่ปากลำแม่น้ำฮวก ซึ่งเปนเขตรแดนไทยกับอังกฤษนั้น ขึ้นไปทางเหนือจนถึงพรมแดนของกรุงจีนนั้น ทางน้ำของแม่น้ำโขงจะต้องเปนพรมแดนเมืองขึ้นของอังกฤษแลฝรั่งเศส ฤๅเปนเขตที่อังกฤษแลฝรั่งเศสมีอำนาจต่อกัน ณ ที่นั้น แลเมืองสิงห์นั้นอังกฤษยกให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว

ข้อ (4) ว่าผลประโยชน์ในทางการค้าขาย ในเมืองยูนนานฤๅโฮนั้นก็ดี แลในเมืองเสฉวนก็ดีบรรดาที่ได้มาตามสัญญาอังกฤษกับจีน ลงวันที่ 1 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 112 ก็ดี ตามสัญญาฝรั่งเศสกับจีนลงวันที่ 20 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 114 ก็ดี จะต้องเปนที่ให้ได้แก่สองประเทศที่ทำหนังสือสัญญานี้เหมือนกันเสมอกัน

ข้อ (5) ว่าสองประเทศที่ทำสัญญากันอยู่นี้ยอมตกลงกันว่าจะแต่งกองทัพข้าหลวงออกไปพร้อมกันเพื่อประโยชน์ที่จะได้ปักปันเขตแดนในแม่น้ำไนซ์เยอร์แลหัวเมืองขึ้นของประเทศในทวีปอาฟริกานั้น

ข้อ (6) ว่าสองประเทศได้ยินยอมตกลงกันว่าจะลงมือทำสัญญาใหม่สำหรับการค้าขายในเมืองตูนิสนั้น

(เซ็นต์) สอลสเบอรี่

(เซ็นต์) เดอ คัวร์เซล

ลงวันที่ 15 มกราคม 1896

แต่ภายหลังปฏิญญาฉบับนี้แล้ว ทั้งอังกฤษกับฝรั่งเศสก็ยังแอบเจรจาลับหลังกับรัฐบาลสยาม โดยต่างฝ่ายต่างพยายามตอดเล็กตอดน้อยเพื่อให้ได้ดินแดนเพิ่มขึ้นในเขตอิทธิพลของตนต่อไป เช่น

ปี 1903 สยามได้เสียดินแดนหลวงพระบางฝั่งขวา นครจำปาศักดิ์ และเมืองมโนไพรให้แก่ฝรั่งเศส
ปี 1907 สยามก็เสียมณฑลบูรพา ได้แก่ เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส
ปี 1909 สยามยอมยกไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานูให้อังกฤษ

และเมื่ออาณาจักรอินโดจีนของฝรั่งเศสและอาณานิคมมลายูของอังกฤษสมบูรณ์ครบถ้วนสมปรารถนาแล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสก็เลิกตอแยกับสยาม และปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศสฉบับนี้ก็สลายตัวไปโดยปริยายและมิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อถกเถียงอีกเลยหลังจากสิ้นรัชกาลที่ 5 อังกฤษกับฝรั่งเศสต้องหันไปพะว้าพะวังกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป

อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. (มกราคม, 2560). ทำไมคนไทยถูกปิดบัง เบื้องหลังทฤษฎีสมคบคิด ตั้งสยามเป็นรัฐกันชน?. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 : ฉบับที่ 3.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2564
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม