3 องค์กรวิชาชีพ เทคนิคการแพทย์ หารือร่วม กมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร แก้ปัญหา กรอบอัตรากำลัง-ค่าตอบแทน-ความก้าวหน้า-เวลาปฏิบัติงาน เสนอตั้งอนุกรรมการ กมธ. สธ. ร่วมแก้ปัญหา บริหารงานบุคคลอย่างเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจให้ทั้งนักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์(เวชศาสตร์ธนาคารเลือด) จพ.วิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา 3 องค์กรวิชาชีพ เทคนิคการแพทย์ นำโดย ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ทนพญ.สุธาทิพย์ อนันต์ อุปนายกสมาคมเทคนิคการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนทนพ.วิทยา เงาตะคุ นายกสมาคมเทคนิคการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข และอุปนายกคนที่ 1 สภาเทคนิคการแพทย์ และทนพญ.อริสา พรหมณาเวช ตัวแทนจากสหภาพเทคนิคการแพทย์ฯ ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข(กมธ.การสาธารณสุข) สภาผู้แทนราษฎร
โดย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ร่วมหารือการแก้ปัญหา กรอบอัตรากำลัง-ค่าตอบแทน-ความก้าวหน้า-เวลาปฏิบัติงาน ร่วมด้วยผู้เกี่ยวข้องจาก สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.) และรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรอบอัตรากำลังวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ทั้งนี้ ในการหารือแบ่งออกเป็นประเด็น ดังนี้ กรอบอัตรากำลัง
สืบเนื่องจากนโยบายลดอัตรากำลังคนภาครัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่หน่วยงานบริการสุขภาพแก่ประชาชนเหล่านี้ จำเป็นต้องตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ ทั้งเรื่องของการรักษาสิทธิ 30 บาทฯ การรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นในจำนวนประชากรเดิมในพื้นที่ และประชากรแฝง ส่งผลให้ภาระงานเพิ่มมากขึ้น แต่อัตรากำลังลดลง จากการเกษียณแล้วยุบรวมตำแหน่งและการไม่อนุมัติคืนกรอบอัตรากำลังทดแทนหรือเพิ่มกรอบอัตรากำลังจากการวิเคราะห์อัตรากำลังตามภาระงาน(FTE) ตามที่ปฏิบัติอยู่จริง
ตัวแทนวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จึงเสนอขอคืนอัตราข้าราชการทุกตำแหน่งในสายงานเทคนิคการแพทย์ให้ต้นสังกัดเดิม เป็นนักเทคนิคการแพทย์ 1:1 โดยไม่ยุบรวมตำแหน่งใดๆ เพื่อหาวงเงิน เช่นเดียวกับการปรับตำแหน่งพยาบาลเทคนิค รวมทั้งเร่งรัดให้มีปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง เพื่อย้ายเปลี่ยนสายงานเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ศึกษาต่อจนจบหลักสูตร วทบ. เทคนิคการแพทย์ มีใบประกอบวิชาชีพ เปลึ่ยนเป็นตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ โดยให้มีการเกื้อกูลระยะเวลา กว่า 114 อัตรา ซึ่งได้เรียนจบ สอบผ่านใบประกอบเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ยังดำเนินการไม่มีเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ทาง 3 องค์กรวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้ยื่นขอกรอบอัตรากำลังให้กลุ่มลูกจ้างรายวัน รายคาบ และจ้างเหมาบริการ ให้ปรับเป็นพนักงานราชการ หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ปฏิบัติงานกว่า 1,425 อัตรา และให้บรรจุเป็นข้าราชการในกลุ่มที่มีกรอบอัตรากำลังแล้ว เช่น พนักงานราชการ พนักงานกระทรวง หรือ ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน จำนวน 863 อัตรา รวมทั้งสิ้น 2,288 อัตรา เป็นกรณีเร่งด่วน และต้องมีกรอบอัตราข้าราชการตาม FTE ที่ปฏิบัติอยู่จริง เพื่อให้มีการคงอยู่ของบุคลากรในสายงานที่เพียงพอต่อการบริการผู้ป่วย
ค่าตอบแทนเทคนิคการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขมีจ้างงานในหลายรูปแบบ ซึ่งมีโครงสร้างอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่แตกต่างกัน โดย ลูกจ้างชั่วคราว อัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ 13,500-15,000 บาท ต้องทำงานเพิ่มกว่า 48-64 ชั่วโมง (6-8 เวร) เพื่อให้เท่ากับฐานเงินเดือนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุุข หรือพนักงานราชการ แม้จะมีคำสั่งด่วนที่สุด สธ 0208.02/ว 8499 ลงวันที่ 29 กันยายน 2566 โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ให้ลดหรือยุติ การจ้างงานประเภทจ้างเหมาบริการ รวมทั้งลูกจ้าง รายวัน / รายคาบ ให้อยู่ในกรอบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานราชการนั้น แต่ปัจจุบันด้วยภาระงานที่เพิ่มขึ้นโรงพยาบาลต่างๆจึงยังมีความจำเป็นต้องจ้างงานนักเทคนิคการแพทย์เข้าทำงานในรูปแบบการจ้างงานหรือสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกลดสิทธิต่างๆหรือให้ยุติการจ้างอยู่
โดยเรียกร้องอัตราเงิน พตส. (เงินเพิ่มตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข) ของสายงานเทคนิคการแพทย์ ให้เพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 2,000 บาท, 3,500 บาท และ 5,000 บาท ตามหนังสือที่สภาเทคนิคการแพทย์เสนอข้อมูลประกอบต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ สทนพ.11.360/2565 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว ที่ยื่นเสนอไป แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน และได้ยื่นเอกสารประกอบต่อ กมธ. สธ ในครั้งนี้มาด้วยแล้ว
พร้อมขอปรับเพดานการจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับสภาพเงินเฟ้อ ให้มากกว่า 8% เดิม เพราะอัตราที่เพิ่มปรับขึ้นเมื่อปี 2566 นั้น ยังน้อยกว่าค่าล่วงเวลาที่หน่วยงานจ่ายให้อยู่แล้ว รวมทั้งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance : P4P) ให้กับนักเทคนิคการแพทย์นอกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมควบคุมโรค, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามหนังสือกระทรวงสาธารณสุข สธ 0202.3.7ว 79 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าด้วยค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข 2565 และหนังสือกระทรวงสาธารณสุข สธ 0202.3.4/ ว 622 ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 ประกาศรายชื่อหน่วยบริการตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนักเทคนิคการแพทย์ปฏิบัติงานอยู่นอกสังกัด สป. กว่า 300 อัตรา และ ฉ.11 ในอัตราเทียบเท่าวิชาชีพพยาบาล
ความก้าวหน้าวิชาชีพจากหนังสือกำลังคนภาครัฐ 2566 พบว่ามีตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ทั้งหมดอยู่ที่ 5,267 อัตรา ระดับตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (C8) อยู่ที่ 155 อัตรา คิดเป็น 2.94%, ตำแหน่งเชี่ยวชาญ (C9) อยู่เพียง 4 ราย คิดเป็น 0.08% ของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ทั้งนี้ แม้จะมีแนวโน้มการปรับระดับตำแหน่งของนักเทคนิคการแพทย์ในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก ส่งผลต่อกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัดของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
รวมทั้งยังมีเงื่อนไขที่มากมาย ไม่ครอบคลุมถึงนักเทคนิคการแพทย์ที่ปฏิบัติงานใน รพช. ไม่มีแนวโน้มการปรับสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ C8, C9 ในหน่วยงานนอกสังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเส้นทางการเติบโตที่มีในปัจจุบัน ไม่ได้ครอบคลุมความเชี่ยวชาญของนักเทคนิคการแพทย์ที่ปฏิบัติงานจริงในประเทศที่มีหลายสาขา โดยการแบ่งหลักการความเชี่ยวชาญของวิชาชีพ เช่นเดียวกับระดับค่า พตส. ที่กล่าวมา
ในระยะเร่งด่วนนี้ ขอให้กำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (C8) และ ตำแหน่งเชี่ยวชาญ (C9) ในโรงพยาบาลทุกระดับ และกรม ต่างๆ โดยมีวงเงินจัดสรร ไม่ต้องมีการยุบตำแหน่งเพื่อกำหนดตำแหน่งใหม่ เช่นเดียวกับสายงานวิชาชีพพยาบาล (ยกเว้นยุบเลิกตำแหน่งว่าง) ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) (ที่นร 1008.3.3/148 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2558) และขอให้มีการเลื่อนไหลครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่อายุมากกว่า 55 ปี ให้เป็นตำแหน่งอาวุโส และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เวชศาสตร์ธนาคารเลือด) ให้เป็นตำแหน่งชำนาญการพิเศษ
เวลาปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเหนื่อยล้า ในการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่อง โดยนักเทคนิคการแพทย์มีชั่วโมงการทำงานติดต่อกันมากกว่า 80-120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานผิดพลาดต่อผู้ป่วย ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว
ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งกำชับให้ทุกเขตสุขภาพบริการอนุมัติกรอบอัตราข้าราชการตามแนวทางที่กระทรวงกำหนดโดยใช้การวิเคราะห์อัตรากำลังตามภาระงาน(FTE) ตามที่ปฏิบัติอยู่จริง เพื่อให้มีอัตรากำลังเพียงพอในการปฏิบัติงาน และกำหนดระเบียบแนวทางการปฏิบัติงานการกำหนดระยะเวลาทำงานที่เหมาะสมให้มีชั่วโมงของการทำงานในและนอกเวลาติดต่อกันต่อเนื่องไม่เกิน 24 ชั่วโมง ต้องมีการพักอย่างน้อย 8 ชั่วโมง(หรือติดต่อกันไม่เกิน 16 ชั่วโมง) พร้อมกำหนดอัตราค่าตอบแทน และให้ไม่ให้กระทบต่อรายได้ รวมทั้งให้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและจ่ายค่าตอบแทนเวร On Call ให้เหมาะสม เนื่องจากมีแนวทางการบริหารของหน่วยงานที่แตกต่างกัน
3 องค์กรวิชาชีพ เสนอตั้งอนุกรรมการ กมธ. สธ. ร่วมแก้ปัญหา
เบื้องต้น ทั้ง 3 องค์กรวิชาชีพ ได้ขอเสนอให้มีวาระติดตาม และให้มีการตั้งอนุกรรมการ กมธ. สธ เพื่อแก้ไขปัญหา หาทางออกที่เป็นรูปธรรม และยั่งยืน มีการบริหารงานบุคคลที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ต่อนักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์(เวชศาสตร์ธนาคารเลือด) เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานภายในห้องปฏิบัติการ อย่างสุดกำลังความสามารถ เคียงข้างผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล ประชาชนไทยมากว่า 67 ปี
13 August 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/08/31354