ผู้เขียน หัวข้อ: แผนลึกกว่านั้น!? ให้กัญชาเป็นยาเสพติด สกัดทำลาย “ยาแพทย์แผนไทย”  (อ่าน 3332 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10184
    • ดูรายละเอียด
ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ได้ก่อกระแสทำให้เกิดความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วน ซึ่งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องพิเคราะห์สถานการณ์ที่แท้จริงนี้ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ได้มีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดมา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อออกมา  “ควบคุมกัญชาทั้งระบบอย่างเข้มข้น” เพราะด้วยปัญหาทางการเมืองมากกว่าปัญหาข้อเท็จจริง

 การปลดล็อกกัญชาได้ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถจ่ายยากัญชาได้สะดวกขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยก็สามารถจะปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

 อีกทั้งยังมีคนสุจริตซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาจำนวนมาก เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มผสมกัญชาหรือกัญชง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ยาที่ทำจากน้ำมันหรือสารสกัดกัญชาและกัญชง ตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ฯลฯ

นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางรายสามารถส่งออกช่อดอกกัญชงหรือสารสกัดจากกัญชงไปยังต่างประเทศเพื่อทำไปผสมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย

แต่ก็ยังมีผู้ที่ดำเนินธุรกิจกัญชาอย่าง  “ผิดกฎหมาย” เช่น การเปิดร้านกัญชาอย่างผิดกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต การจำหน่ายกัญชาให้เด็กและเยาวชน การลักลอบการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ การเปิดให้มีการสูบกัญชาในร้านเพื่อนันทนาการ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะปัญหา 2 ปัจจัยสำคัญคือ

1.มีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้สำหรับการควบคุม “ชั่วคราว” นานเกินไป โดยในระหว่างการรอกฎหมายกัญชา กัญชงทั้งระบบ ได้มีการควบคุมกัญชาอยู่แล้วหลายฉบับ เช่น การประกาศให้ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม โดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518, พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายควบคุมกัญชา  “ชั่วคราว” เพื่อเอามาใช้ไปพลางๆ ก่อนนั้น แต่เนื่องจากมีบทลงโทษทางกฎหมายที่ไม่รุนแรงเพียงพอและกลไกที่แยกหลายส่วนงาน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบและมีบทลงโทษที่รุนแรงในการกระทำความผิดทั้งหมดด้วย การใช้กฎหมายชั่วคราวในการควบคุมกัญชานานเกินไป ทำให้ผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายมีวิวัฒนาการ เห็นช่องว่างและจุดอ่อน ตลอดจนอัตราโทษทางกฎหมายที่ไม่รุนแรง จึงหาช่องทางในการกระทำความผิดมากขึ้น

 2.ถึงแม้จะมีการใช้กฎหมายชั่วคราวในการควบคุมกัญชา แต่หากมีการ “บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง” ปัญหาก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้   โดยเฉพาะผู้ที่จำหน่ายให้เด็กและเยาวชน ผู้ที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่มาเปิดร้านขายกัญชาอย่างผิดกฎหมาย หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดกัญชา(ซึ่งเป็นยาเสพติด) เปิดขายอย่างผิดกฎหมาย ย่อมต้องถูกปิดกิจการ หรือมีบทลงโทษทางกฎหมายไปแล้วทั้งสิ้น

 แต่ “การปล่อยปละละเลย” ให้มีการกระทำผิดจำนวนมากนั้น ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์กัญชาอย่างใหญ่หลวง ก็เพื่อจะหวังความชอบธรรมทางการเมืองในการ “นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” มากกว่าหรือไม่?

แต่คำถามข้างต้นคงยังไม่สำคัญกับปัญหาในประเด็นที่ว่า หาก  “เปลี่ยนแนวทาง” จากการทำกฎหมายกัญชา กัญชงออกมาต่างหากมาเป็น  “การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” เราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรบ้าง?
 หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน จะสามารถใช้กัญชาจ่ายให้กับคนไข้ได้เหมือนเดิม เพราะคิดว่ารัฐบาลแม้จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแต่ยังให้ใช้ทางการแพทย์ได้

  หลายคนฝันหวานไปว่าหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว ฟาร์มกัญชาของตัวเองจะขายดีขึ้น เพราะไม่ให้ชาวบ้านปลูกแล้ว ต้องซื้อกัญชาจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น
ทั้ง 2 ประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะในที่สุดแล้วการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะทำให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านจะไม่สามารถจำหน่ายกัญชาให้กับคนไข้ได้เหมือนเดิม คงเหลือแต่  “ยากัญชานำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงเพราะได้จดสิทธิบัตรแล้ว” และแพทย์แผนปัจจุบันพร้อมจะจ่ายกัญชาเหล่านี้ด้วย

 หรือจะเหลือแต่กัญชาของฟาร์มผู้ที่มีเส้นสายของกลุ่มทุนใหญ่พวกพ้องนักการเมืองไม่กี่รายเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิผูกขาดการค้าขายกัญชาให้กับประชาชน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ได้โปรดติดตามเนื้อหาดังนี้

ในวงการกัญชาทางการแพทย์นั้น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ หมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพหลัก ที่มีโอกาสจะ “จำหน่าย” กัญชาหรือน้ำมันกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ให้กับคนไข้ได้มากที่สุด

เพราะสามารถก้าวข้ามการผูกขาดยากัญชาของชาติที่มีสิทธิบัตรที่ต้องซื้อมาในราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายในรูปแบบของตำรับยาแพทย์แผนไทย หรือ การปรุงยาเฉพาะรายให้กับคนไข้แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ตามพระราชบัญญัติ วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ซึ่งทำให้เป็นวิชาชีพที่สำคัญเพราะสามารถจำหน่ายกัญชาให้คนไข้ได้ตามลักษณะความสมดุลของธาตุของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันได้ด้วย
หากพิจารณาจากประกาศของสภาการแพทย์แผนไทย ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2563 ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ได้ครอบคลุมทุกวิธีการใช้กัญชาในหลายรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน ซึ่งรวมถึง การสกัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์แล้วรับประทาน, การตำเป็นผงบดละเอียดละลายน้ำกระสายยาให้กิน, การบดเป็นผงอัดเม็ด, การทำเป็นเม็ดแคปซูล, ยาประสมแล้วเผาไฟใช้ควันรม, ยาประสมแล้วมวนบุหรี่สูบเอาควัน ฯลฯ[1]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทด้วยแล้ว จึงต้องมีความระมัดระวังด้วยการ ค่อยๆ ให้จากน้อยที่สุดและเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ ด้วยเพราะตัวรับสารกัญชาของแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนอะไรในโลกนี้ ก็ต้องมีวิธีการไปในทิศทางเดียวกัน

ตัวอย่างยากัญชาสกัดที่ทำโดยหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อนการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น น้ำมันเดชา น้ำมันกัญชาตำรับเมตตาโอสถ น้ำมันกัญชาตำรับการุณย์โอสถ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เรียนรู้มาจากการใช้น้ำมันกัญชาจริงจากชาวบ้านทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยการแพทย์แผนไทยที่มีลักษณะยืดหยุ่นปรับได้ตามลักษณะของคนไข้แต่ละคนที่ไม่เหมือนกันสอดคล้องไปกับวิถีของการใช้กัญชาอย่างลงตัวที่สุด แต่เนื่องด้วยเพราะกัญชาหากปลูกในประเทศย่อมมีราคาที่ไม่แพงเท่ากับยากัญชาต่างชาติ วิถีของการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน จึงกลายเป็นคู่แข่งตามธรรมชาติของบริษัทยากัญชาของต่างชาติที่หวังจะนำมาขายในประเทศไทยในราคาแพงๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยากัญชาที่มีสิทธิบัตรของต่างชาตินั้น ต่างปลูกในเรือนปิดเกือบทั้งหมดทำให้มีการลงทุนอย่างมหาศาลที่คนไทยหรือวิสาหกิจชุมชนทั่วไปไม่สามารถจะไปลงทุนได้ หรือหากมีผู้ลงทุนในประเทศได้ก็จะเป็นกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยไม่กี่รายที่จะมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตให้ยากัญชาที่มีสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติได้เท่านั้น

นอกจากนั้นในวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ก็มีการควบคุมมาตรฐานเรื่องกัญชากันเองเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วยและประชาชน โดยสภาการแพทย์แผนไทยได้ควบคุมมาตรฐานโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ด้วย

โดยสภาการแพทย์แผนไทยได้มีการออกประกาศสภาการแพทย์แผนไทยหลายฉบับในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์แผนไทยด้วยความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมถึง ผู้ปลูกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย[2], ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แผนไทย[3], สถานบริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย[4], ผู้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย[5], ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แผนไทย[6], มาตรการและบทลงโทษผู้กระทำความผิดในการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต[7]

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2567 โดยมีสาระสำคัญปรากฏอยู่ในข้อ 3 และ ข้อ 4 ความว่า

 “ข้อ 3 ให้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผสมอยู่ และได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคได้

 ข้อ 4 ให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผสมอยู่ และได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อการศึกษาวิจัย เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อการเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้”[6]

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีความหมายซ่อนปมเอาไว้ 2 ประการ

ประการแรก ห้าม “สกัดยาที่มาจากกัญชาหรือกัญชง” ทั้งสิ้นในการใช้ทางการแแพทย์ ให้ใช้ได้ในรูปอื่นที่เป็นตำรับยาที่ห้ามสกัด ไม่ว่าจะมีสารเมา (THC)อยู่หรือไม่ก็ตาม หรือปริมาณเท่าใดก็ตาม ซึ่งจากเดิมแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ สามารถสกัดและใช้ได้ตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย และประกาศของสภาการแพทย์แผนไทย รวมถึงการปรุงยาเฉพาะรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสารสกัดกัญชามีปริมาณ THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก

สำหรับประเด็นนี้อาจจะอ้างว่า ปัจจุบันนี้ตำรับยาที่เป็นน้ำมันกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับนั้น ไม่นับเป็นยาเสพติดแล้วแพทย์แผนไทยจะสามารถจ่ายได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเป็นยาเสพติด ก็ไม่สามารถผลิตหรือสกัดเองได้ ต้องรอภาครัฐอนุมัติเท่านั้น และไม่สามารถปรุงยาเฉพาะรายได้ด้วย

ประการที่สอง ปัจจุบันยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีพืชเหลือเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย หากแต่การเขียนเช่นนี้เป็นการรองรับ พืชกัญชาที่กำลังจะเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามมาใช่หรือไม่

  ผลคือ…จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายยากัญชาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแบบดั้งเดิมได้ ไม่สามารถสกัดเองได้ แม้จะไม่มีสารเมา THC หลงเหลือก็ตาม และไม่สามารถทำการปรุงยาเฉพาะรายด้วยการสกัดยาจากกัญชา หรือกัญชงได้ด้วย

 เพราะหากกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้อนุญาตให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านจ่ายยาเองได้ตามอำเภอใจ

 หากแต่กัญชาเมื่อเป็นยาเสพติดแล้ว จะต้องผ่านเภสัชกรแผนปัจจุบัน และจะต้องมีเภสัชกรแผนปัจจุบันอยู่ในสถานบริการนั้นตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ทั้งๆ ที่เภสัชกรแผนปัจจุบัน ไม่ได้วินิจฉัยและมีลักษณะการจ่ายยาสกัดสมุนไพรเหมือนกับรูปแบบของการแพทย์แผนไทยเลย

 นี่คือการกีดกั้นทางวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านในการ “จำหน่ายกัญชา” หรือไม่
ดังปรากฏตามมาตราประมวลกฎหมายยาเสพติดดังนี้

“มาตรา 40 ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องจัดให้มี “เภสัชกรอยู่ประจำ” ควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง“[9]

ดังนั้นถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็เตรียมปิดฉากการใช้กัญชาในการแพทย์แผนไทยได้เลย นอกจากไม่สามารถสกัดยากัญชาหรือกัญชงหรือปรุงยาเฉพาะรายตามแนวทางของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้แล้ว ยาที่มีกัญชาตามตำรับในแนวทางการแพทย์แผนไทยยังต้องจ่ายโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันเท่านั้นอีกด้วย

  นี่คือการตัดตอนและทำลายการจ่ายยากัญชาด้วยการพึ่งพาตัวเองของการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านใช่หรือไม่ และการจ่ายโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันนั้นก็เพื่อปูทางไปสู่ยาสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติใช่หรือไม่

 ด้วยเหตุผลนี้ใช่หรือไม่ จึงมีการวางแผนกันที่จะเอากัญชาเป็นยาเสพติด แทนที่จะออกกฎหมายควบคุมกัญชากัญชงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง

[1] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556, เล่ม 137 ตอนพิเศษ ง 162 ง, 15 กรกฎาคม 2563 หน้า 27
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/20.500.13072/565896/630715_27_162งพิเศษ.pdf?sequence=1

[2] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง ข้อกำหนดการขึ้นทะเบียนและให้การรับรองมาตรฐานผู้ปลูกกัญชาให้แพทย์แผนไทยใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2566, เล่ม 140 ตอนพิเศษ ง 231 ง, 19 กันยายน 2566 หน้า 9
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D231S0000000000900.pdf

[3] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง ข้อกำหนดการขึ้นทะเบียนและให้การรับรองมาตรฐานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ พ.ศ. 2566, เล่ม 140 ตอนพิเศษ ง 231 ง, 19 กันยายน 2566 หน้า 8
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D231S0000000000800.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่องข้อกำหนดการขึ้นทะเบียนและให้การรับรองมาตรฐานสถานบริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2566 เล่ม 140 ตอนพิเศษ ง 231 ง, 19 กันยายน 2566 หน้า 7
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D231S0000000000700.pdf

[5] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง ข้อกำหนดการขึ้นทะเบียนและให้การรับรองมาตรฐานผู้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2566 เล่ม 140 ตอนพิเศษ ง 231 ง, 19 กันยายน 2566 หน้า 6
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D231S0000000000600.pdf

[6] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง ข้อกำหนดทะเบียนรายชื่อและหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แผนไทย สำหรับการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทยโดยผู้ที่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต พ.ศ. 2566, เล่ม 140 ตอนพิเศษ 231 ง, 19กันยายน 2566 หน้า 5
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D231S0000000000500.pdf

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง ข้อกำหนดการควบคุม การให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ศ. 2566, เล่ม 140 ตอนพิเศษ 231 ง, 19 กันยายน 2566 หน้า 4
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D231S0000000000400.pdf

[8] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2567, เล่ม 141 ตอนพิเศษ 110 ง, 22 เมษายน 2567 หน้า 14
https://narcotic.fda.moph.go.th/media.php?id=623323537364623360&name=NC_035%20ประกาศ%20สธ%20ยส.5ที่มิใช่สารสกัดกัญชาหรือกัญชง%20ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการวิจัยได้.pdf

[9] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564, เล่ม 138 ตอนที่ 73 ก, วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564, หน้า 31
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/073/T_0001.PDF

17 พ.ค. 2567 ผู้จัดการออนไลน์