ผู้เขียน หัวข้อ: ต้องไม่ผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย  (อ่าน 2756 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ต้องไม่ผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย
« เมื่อ: 25 มิถุนายน 2010, 10:15:00 »
จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีทุกท่าน
25 มิ.ย. 2553
เรื่อง ขอให้พิจารณาไม่ให้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร
เรียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีทุกท่าน
  ตามที่ได้ทราบมาว่า มีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... รอเข้าวาระเร่งด่วนในการพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่ 6 ร่าง เรียงตามลำดับที่เสนอคือ
1.นายเจริญ จรรย์โกมล และสส.พรรคพลังประชาชน  24 เม.ย. 2551
2.นายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ และสส.พรรคพลังประชาชน 2 ต.ค. 2551
3.นายสุทัศน์ เงินหมื่น และสส.พรรคประชาธิปัตย์  2 พ.ย. 2552
4.นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ และสส.พรรคภูมิใจไทย 19 พย. 2552
5.นส.สารี อ๋องสมหวัง และประชาชนอีก 10,007 คน 5 มิย. 2552
6.ค.ร.ม.โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 27 เมย. 2553 เสนอเป็นเรื่องด่วนเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
ร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดมีหลักการและเหตุผล คล้ายๆกันคือ อ้างว่าความเสียหายจากบริการสาธารณสุขยังไม่ได้รับการเยียวยา ในทันที ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เปลี่ยนไป จึงแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหาย ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
-ข้อสังเกตจากกลุ่มผู้ที่จะต้องตกเป็นจำเลย (ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข)
1.ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะอะไร? เพราะบุคลากรน้อย ผู้ป่วยมาก
ควรแก้ปัญหาที่นั่น จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ดีกว่าการที่จะมาเยียวยา หลังจากประชาชนเสียหายแล้ว
2. คณะกรรมการที่จะมาตัดสินชี้ขาดว่าเป็นความเสียหายนั้น ไม่ใช่ผู้มีความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ และการตัดสินชี้ขาดไม่ได้อาศัยหลักวิชาการทางการแพทย์ แต่ใช้การตัดสินจากอารมณ์ความรู้สึกของคณะกรรมการที่ไม่มีความรู้ ทางการแพทย์ โดยการนับคะแนนเสียงข้างมาก
บรรทัดฐานการตัดสินเรื่องความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมติกรรมการนั้นจะเชื่อถือได้หรือไม่
เหมือนกับเอาคนที่ไม่ได้ใบประกาศรับรองว่าเป็นกรรมการตัดสิน ฟุตบอล ให้ไปเป็นกรรมการในสนามแข่งขันฟุตบอลโลก แล้วจะเชื่อถือได้หรือไม่ว่า เป็นการตัดสินที่ถูกต้อง ยุติธรรม มีมาตรฐาน
การมีพ.ร.บ.นี้ จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานภายใต้ความกดดัน เกิดความอึดอัดคับข้องใจ เครียด  มีความเจ็บปวด(ปวดใจ ที่ตั้งใจช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ แต่ต้องคอยระวังว่าจะถูกทำร้ายกลับโดยการฟ้องร้องหรือเปล่า) มีความทุกข์ทรมาน และความหวาดกลัวว่าจะตกเป็นจำเลยของคณะกรรมการ จำเลยของศาลอีก หลายศาล และเป็นจำเลยสังคม (ถูกประณามหยามเหยียด) ที่ผู้ป่วยและญาติจะกลายมาเป็นผู้ เสียหาย และตนเองจะตกเป็นผู้ถูกสอบสวนและยังจะต้องถูกฟ้องศาลได้อีก ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
ทำให้พ.ร.บ.นี้ เพิ่มช่องทางการฟ้องบุคลากรทางการแพทย์อีก 1 ช่องทาง นอกจากการฟ้องสภาวิชาชีพ และฟ้องศาลแพ่ง/ศาลอาญาแล้ว และการตัดสินตามพ.ร.บ.นี้ก็ใช้บุคคลที่ไม่รู้เรื่องวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขมาตัดสิน ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างแน่นอน
 บุคลากรที่ปฏิบัติงานบริการรับใช้ประชาชน คงจะไม่ได้รับความยุติธรรม เสื่อมเสียชื่อเสียง จากการถูกร้องเรียน/ฟ้องร้องมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนคงจะ ไม่ดีขึ้นตามที่ผู้เสนอพ.ร.บ.นี้ต้องการอย่างแน่นอน เพราะประชาชนได้รับ การรักษา ได้รับการช่วยเหลือและได้รับการชดเชย แต่แพทย์ทำงานดูแลรักษา ต้องถูกสอบสวน ถูกฟ้องร้อง ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุแห่งความเสียหาย
บุคลากรทางการแพทย์ ก็คงจะไม่กล้ารับรักษาผู้ป่วย เพราะเกรงว่า ถ้าผู้ป่วยตายไปในระหว่างการรักษา ก็จะถูกร้องเรียนว่าทำให้เกิดความเสียหาย และต้องถูกสอบสวนแน่นอน ก็ต้องจำใจที่จะเลือกส่งผู้ป่วยไปตายเอาดาบหน้า
 การให้กรรมการที่ไม่รู้เรื่องมาตรฐานทาง การแพทย์มาตัดสินการประกอบวิชาชีพแพทย์ จึงเป็นการทำลายล้างมาตรฐานการแพทย์ที่ดี ของวงการแพทย์ไทย  สภา วิชาชีพไม่สามารถควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่รับผิดชอบชีวิต และสุขภาพของมนุษย์ได้  ต้องให้คนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์มาตัดสิน
สภาวิชาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์สาขาต่างๆจากราชวิทยา ลัยแพทย์สาขาต่างๆ ก็ไม่มีความหมายในการที่จะทำหน้าที่ในการควบคุมการประกอบวิชาชีพให้ เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีที่สุด เพราะไม่สามารถที่จะรับรองได้ว่ามาตรฐานที่ดีที่สุดคืออย่างไร เพราะมีคนอื่นมาเป็นผู้ตัดสินว่าการประกอบวิชาชีพนั้นมีมาตรฐาน หรือไม่/อย่างไร
การออกพ.ร.บ. นี้ จึงเป็นการบ่อนทำลายมาตรฐานการแพทย์ที่บรรพบุรุษของแพทย์ไทยได้ สั่งสมมาอย่างยาวนาน สภาวิชาชีพไม่ต้องมีก็ได้ ถือเป็นการยุบแพทยสภา(ทั้งๆที่แพทยสภาได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง มีกรรมการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาการแพทนย์ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง) โดยคณะรัฐบาลชุดนี้ ที่มีหัวหน้ารัฐบาลมาจากครอบครัวแพทย์
3.การยืดเวลาความเสียหายไปถึง 3 ปี นับจากผู้เสียหายรู้ว่าเกิดความเสียหาย ไม่ได้นับจากเวลาที่เกิดเหตุการณ์เป็นการยากที่จะพิสูจน์คำกล่าว อ้างของผู้เสียหาย ว่าทราบความเสียหายเมื่อใด)
และการยืดอายุความไปถึง 3 ปี เหมือนพ.ร.บ.วัตถุอันตราย หรือพ.ร.บ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย น่าคิดว่าคนเสนอกฎหมายมองว่า บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพทั้งหมดเป็น “วัตถุอันตรายหรือสินค้าไม่ปลอดภัย หรือบุคคลอันตราย” สำหรับ ประชาชนทั่วไป
ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์ (ความเสียหายนี้ ใครจะเป็นผู้เยียวยา) ที่คิดแต่จะช่วยผู้คนให้หายเจ็บป่วย และมีสุขภาพดี มิใช่เป็นอาชญากร
4. การบังคับเก็บเงินจากโรงพยาบาล คลินิก และอื่นๆที่รักษาผู้ป่วย เป็นการบังคับให้ “ประกันความเสียหาย” โรงพยาบาลก็ต้องขึ้นราคาค่าบริการทางการแพทย์มากขึ้น รัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินสองต่อ คือเงินค่ารักษา (ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และเงินช่วยทำศพและชดเชยความเสียหาย
5.ทำไมรัฐบาลไม่คิดปฏิรูปการบริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐาน โดยการช่วยให้โรงพยาบาลมีบุคลากรให้ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือตามาตรฐาน จะได้รักษาประชาชนได้ตามมาตรฐาน
เพื่อช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขให้บริการที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย คงจะดีกว่าปล่อยให้มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลแต่มีบุคลากรไม่เพียงพอ ต้องรีบเร่งทำงาน เสี่ยงต่อความผิดพลาด แล้วก็คอยออกกฎหมายมาซ้ำเติมบุคลากรที่ต้องรับ ภาระงานหนัก และประชาชนไม่ปลอดภัย
 บุคลากรเป็นทุกข์ เครียด หวาดกลัวและหวาดหวั่น (อ้างตามข้อความในพ.ร.บ.ที่ยื่นเข้าสภา) ว่าประชาชนต้องได้รับค่าชดเชยนี้ แต่บุคลากรจะได้ด้วยหรือไม่?
รัฐบาลจ่ายเงินค่ารักษาประชาชน และค่าเยียวยาประชาชน
แต่บุคลากรที่เสียขวัญ และมาตรฐานการแพทย์ที่ควบคุมโดยสภาวิชาชีพจะเสียหาย รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจะรับผิดชอบอย่างไร?
ระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขไทยคงรอวันล่มสลาย เพราะประชาชนที่มารับบริการได้รับบริการฟรี โดยโรงพยาบาลและรัฐบาลประกันความเสียหาย ส่วนบุคลากรเป็นฝ่ายรับความเสียหายสถานเดียว ทั้งๆที่อดทนทำงานหนัก เพื่อบริการประชาชน
หรือให้อดทนต่อไป ใครทนไม่ได้ก็ลาออกไปอยู่ medical hub ที่รัฐบาลสนับสนุนต่อไป
สรุป ความเห็นจากสมาชิกสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทยคือ
 การเขียนกฎหมายแบบนี้ จะกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพ และเป็นการผลักภาระให้แก่บุคคลากรและหน่วยงานทางการสาธารณสุขเกิน สัดส่วน
ไม่สอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน

แพทยสภา จะหมดความหมายไปในทันที ระบบตรวจสอบมาตรฐานวิชาชีพถูกทำลาย   ทำให้การรักษามาตรฐานและจริธรรมธรรมของบุคคลากรด้านสาธาณสุข หลุดออกจากกระแสของพัฒนาการในระดับนานาชาติที่กำลังดำเนินอยู่  และอาจเลวร้ายจนกระทบต่อพัฒนาการการรักษาผู้ป่วยในอนาคต
เพียงเท่านี้ ก็ไม่สมควรมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว
กฎหมายสร้างปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา    เอาแต่ได้อย่างเดียว  ไม่ได้พิจารณาผลกระทบและความเสียหาย ที่จะติดตามมา ซึ่งยากต่อการเยียวยาหรือสร้างระบบให้กลับคืนมาใหม่ได้.
ขอเรียกร้องให้ค.ร.ม. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณาพ.ร.บ.นี้เพื่อไม่ให้กฎหมาย ฉบับนี้ ผ่านมติสภาผู้แทนราษฎร
ขอแสดงความนับถือ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย