ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิรูปประเทศไทยให้โดนใจทุกๆคน-พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา  (อ่าน 2778 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
ปฏิรูปประเทศไทยให้โดนใจทุกๆคน โดยการปฏิรูปการประกันสังคม

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

อนุกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา

หลังจากได้อ่านบทความเรื่อง ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ให้โดนใจคนรากหญ้า  : โดย ประวิทย์ เรืองศิริกุลชัย ในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 มิย. 2553 แล้ว ทำให้เกิดความคิดที่อยากจะเขียนเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไรให้โดนใจทุกๆคน” เพราะพลเมืองไทยทุกคนก็มีสิทธิที่จะได้รับผลดีที่เกิดขึ้นจากการ “ปฏิรูปประเทศไทย” เช่นเดียวกันกับกลุ่ม “คนรากหญ้า”เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น “ผู้มีอันจะกิน” หรือชนชั้นกลางส่วนมากของสังคม ก็ย่อมจะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสำหรับชีวิตและความเป็นอยู่เช่น เดียวกัน เนื่องจากในบทความที่ผู้เขียนอ้างถึงนั้น ได้พูดถึงปัญหาของคน “รากหญ้า”  (ผู้เขียนไม่อยากใช้คำว่า “รากหญ้า แทนคำเดิมๆของไทยที่เรียกว่า “พลเมือง” เลย รู้สึกว่า คำว่ารากหญ้า ยิ่งทำให้พลเมืองไทยรู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยามให้ตกต่ำลงไปอยู่ใต้ดิน –ผู้เขียนอาจจะคิดมากไป แต่เคยได้ยินหลายๆคนพูดอย่างนี้) เฉพาะที่เป็นกลุ่ม “ประกันตน” คือเป็นลูกจ้างเท่านั้น

 แต่พลเมืองไทยไม่ได้มีคนยากจนเฉพาะกลุ่ม “ลูกจ้าง” ที่ต้องถูกบังคับให้จ่ายเงิน 5%จากเงินค่าจ้างของตนเองเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนเท่านั้น พลเมืองไทยที่มีอาชีพอิสระ ไม่ได้เป็นลูกจ้าง เช่น ค้าขายรายย่อย ทำนา ทำสวน หรือรับจ้างเล็กๆน้อยๆพอประทังชีพไปวันๆ โดยไม่มีหลักประกันรายได้ใดๆก็มีอยู่มาก และบุคลเหล่านี้ อาจจะมีมากกว่ากลุ่มผู้ประกันตนเสียอีก เพราะข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ระบุว่า พลเมืองไทยในกลุ่มประกันสังคมมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคนเท่านั้น

   อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณประวิทย์ เรืองศิริกุลชัย ที่เสนอว่าให้กองทุนประกันสังคม ออกเงินกู้ให้แก่ “ผู้ประกันตน” เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องไปเสียดอกเบี้ยเงินกู้ราคาแพงนอกระบบ หรือคนไหนไม่ขาดเงิน ก็ยังอาจจะนำเงินไปลงทุนทำอาชีพอื่น นอกเหนือจากการเป็นลูกจ้างหรืออาจจะเอาเงินนี้ไปให้คนอื่นกู้ได้อีก โดยสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับสปส.

   ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดนี้ก็คล้ายๆกับหลักการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่สมาชิกสหกรณ์ต่างก็จ่ายเงินของตนเองทุกเดือนเป็นค่าหุ้นเพื่อสมทบกันเป็น เงินทุนของสหกรณ์ ในการเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวนเงินที่จ่ายก็แล้วแต่ข้อตกลงของกรรมการสหกรณ์(ที่เลือกตั้งจากสมาชิก) และสมาชิกสหกรณ์ทุกคนต่างก็มีสิทธิที่จะกู้เงินในส่วนที่เป็นมูลค่าหุ้นที่ ตนเคยจ่ายไว้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (เพราะมีเงินเท่ามูลค่าหุ้นค้ำประกันอยู่แล้ว) หรืออาจจะกู้เงินจากสหกรณ์ที่มากกว่ามูลค่าหุ้นของตนเอง (ในกรณีนี้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ ผู้กู้จะได้รับผลประโยชน์จากการจ่ายดอกเบี้ยราคาถูกกว่าการไปกู้หนี้นอกระบบ โดยเงินค่าหุ้นที่จ่ายสมทบเข้าไปทุกเดือนนั้น ก็จะได้รับเงินปันผลกลับคืนมา จากการดำเนินการด้านเงินกู้ของสหกรณ์นั้นๆ

  ฉะนั้นผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติมจากความเห็นของคุณประวิทย์ เรืองศิริกุลชัยว่า ในการแก้ปัญหาคนจนซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ประจำหมู่บ้าน โดยรัฐบาลอาจส่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเป็นผู้ให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษาแก่พลเมืองในหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆทั่วประเทศ ในการจัดการเรื่องเงินทุนของตนเองและครอบครัว ให้มีความคล่องตัว และเป็นการช่วยสร้างให้ประชาชน มีความสามารถหรือศักยภาพ ให้รู้จักการออมเงินและต่อยอดไปถึงสามารถร่วมกันบริหารจัดการเงินออม ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการรู้จัก “ลงทุน” เพื่อเพิ่มผลตอบแทนแก่ตนเอง และยังมี “แหล่งทุน” ที่จะสามารถกู้ยืมเงินได้อีกด้วย ทำให้สามารถพัฒนาให้เกิดกองทุนของตนเองและหมู่บ้านได้อย่างยั่งยืน  อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และความสามัคคีกัน ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างมีระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยประชาชนพลเมืองมีความสามารถที่จะทำได้เอง ไม่ใช่คอยรับการช่วยเหลือแจกเงินจากรัฐบาลที่เอาเงินภาษีของประชาชนทั้ง ประเทศมาให้เป็นครั้งคราวเท่านั้น

  อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ การปฏิรูประบบการประกันสังคม ให้ครอบคลุมประชาชนพลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง อาชีพอิสระ เกษตรกร ค้าขาย หรือข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือนักการเมือง ให้พลเมืองทุกคนมีหน้าที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามความสมัครใจ หรือตามอัตรารายได้  และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบตามอัตรา ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนทุกคน ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เมื่อสูงอายุ เจ็บป่วย หรือทุพลภาพ ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะได้รับการดูแลสุขภาพ การให้บำนาญ หรือการให้เงินทดแทนกรณีตกงานหรือเจ็บป่วย เหมือนที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับอยู่ในขณะนี้

   ในปัจจุบันนี้ กองทุนประกันสังคมนั้น มีแต่ลูกจ้างเอกชนเท่านั้น ที่ถูกบังคับให้จ่ายเงินเข้ากองทุน นายจ้างหรือเจ้าของกิจกานั้น ถึงอยากจะจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อจะขอรับสิทธิประโยชน์บ้าง ทางสปส.(สำนักงานประกันสังคม) ก็ไม่ยอมรับให้กลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการ เข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สปส.จะทำได้ รวมทั้งน่าจะให้คนต่างชาติ ที่มาทำงานในประเทศไทย(ตามกฎหมาย) มีส่วนร่วมในการจ่ายเงินเข้าสมทบในกองทุนประกันสังคมด้วย ไม่จำเป็นต้องไปทำประกันสุขภาพแต่เพียงอย่างเดียว ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ผู้ เขียนเคยทราบว่า ประชาชนบางคน ไม่ได้เป็นลูกจ้างเอกชน แต่อยากได้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม ก็ไปขอจ่ายเงินสมทบกับเจ้าของกิจการ(โดยยอมจ่ายทั้งในส่วนของนายจ้างและของ ตนเอง เป็น2 เท่า) เพื่อจะให้ตนเองมีสิทธิรับผลประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ที่สำคัญคือสิทธิในการรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และสิทธิในเวลาสูงอายุ(บำนาญ)

  เพื่อนที่ไปทำงานและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาบอกเล่าว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น ประชาชนทุกคนที่ทำงานมีเงินเดือน นอกจากจะต้องเสียภาษีให้รัฐแล้ว ยังต้องถูกหักภาษีประกันสังคมด้วย เพื่อเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แม้แต่ผู้สูงอายุที่เลิกทำงานและได้รับบำนาญจากประกันสังคม(รัฐบาล)แล้ว เงินบำนาญนี้ก็ยังจะถูกหักภาษีเหมือนเดิม และส่วนหนึ่งของเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนประกันสังคมนี้ ก็คือเงินที่เก็บไว้เพื่อการได้รับบริการด้านสุขภาพนั่นเอง ส่วนประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ก็ต้องจ่ายภาษีประกันสังคมเช่นเดียวกับผู้เป็นลูกจ้าง พนักงานของรับก็ต้องจ่ายภาษีประกันสังคมเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้รับบำนาญและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เหมือนๆกัน

  ผู้เขียนเอง เคยไปรับการฝึกอบรม (Residency Training) เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง (specialist) ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเรียนโดยการฝึกงานและได้รับเงินเดือนในการฝึกงานนี้ เงินเดือนที่ได้รับทุกครั้ง ก็จะถูกหักภาษี และหักเข้าสมทบในกองทุนประกันสังคม(Social security tax)  โดยไม่มีข้อยกเว้น ว่าเราไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน

ฉะนั้น  ในการปฏิรูปประเทศไทยให้มีผลต่อสวัสดิภาพและ สวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตั้งแต่เกิดจนตายนั้น ระบบการประกันสังคมสำหรับทุกๆคน น่าจะช่วยให้ประชาชนทุกคน มี “การประกันคุณภาพชีวิต” ที่ดีในระดับหนึ่งตลอดชีวิต

  ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้อง “ปฏิรูประบบประกันสังคม” ให้ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพลเมืองไทยหรือต่างด้าว ทั้งนี้ เท่ากับเป็น”การบังคับ” ให้ประชาชนออมเงินของตนเองไว้ใช้ในยามเจ็บป่วย สูงอายุ หรือตกงาน โดยรัฐบาลมีส่วนสมทบกองทุนนี้อีกส่วนหนึ่ง และควรให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกันตน มาเป็นกรรมการบริหารกองทุน เพื่อตรวจสอบความสุจริต โปร่งใส ในการบริหารกองทุนประกันสังคมด้วย

 ในขณะที่การปฏิรูประบบประกันสังคมยังไม่สำเร็จ การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดำเนินการ จัดตั้งสหกรณ์ทุกหมู่บ้าน  จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเก็บออมเงิน และมีความสามารถในการบริหารจัดการเงิน ไม่ต้องผลักภาระให้แก่รัฐบาลโอบอุ้มแต่เพียงอย่างเดียว น่าจะเป็นวิธีการ “แก้ปัญหาความยากจน” ได้โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและพลเมืองทุกหมู่บ้าน และหน่วยงานของกระทรวง “พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ในการช่วยให้ประชาชนพลเมืองทุกหมู่บ้าน สามารถ “จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์” เพื่อแก้ปัญหาการเงินของตนเองได้

ประชาชน อาจจะยังไม่ “โดนใจ” กับระบบประกันสังคมที่ว่านี้ แต่ในระยะยาวแล้ว ประชาชนทุกคนย่อมจะได้รับความเป็นธรรมจากระบบนี้ และได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมอย่างยั่งยืน โดยเสมอภาคกัน ยกเว้นประชาชนที่ด้อยโอกาสหรือยากจนเท่านั้น จึงสมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากรัฐบาล ไม่ใช่หว่านเงินแจกทุกคนโดยไม่มีเหตุผล เช่นโครงการแจกเงินผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่ว่ารวยหรือจนทุกคนๆละ 500 บาท ถ้ารัฐบาลแจกเฉพาะคนจน ที่ไม่มีรายได้หรือไม่มีคนช่วยเหลือเกื้อกูลเท่านั้น คนเหล่านี้อาจจะได้รับเดือนละ 1,000 บาทก็ได้ ซึ่งวิธีการนี้อาจจะเป็นการ “เลือกปฏิบัติ” แต่เป็นการ “เลือกปฏิบัติตามสมควรและเป็นธรรม” แก่ผู้ที่จำเป็นเท่านั้น