หลักการและเหตุผล
เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินงานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขาดงบประมาณ ขาดการพัฒนาสถานพยาบาลและโรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาตรฐานคุณภาพบริการ ก่อให้เกิดปัญหาการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผู้ป่วยเสียเวลารอคอยนานในการไปรับการบริการด้านสุขภาพ เพราะมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ประชาชนเสี่ยงต่อการได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อความเสียหาย และบุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง ในขณะที่ไม่สามารถดำเนินการในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างได้ผล เพราะการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยและการใช้บริการโรงพยาบาล
ทั้งนี้ เนื่องจากบุคลากรทั้งฝ่ายการแพทย์และฝ่ายสาธารณสุข มีจำนวนน้อยไม่เหมาะสมกับภาระงาน ขาดการส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในราชการ ทั้งๆที่ต้องรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของประชาน แต่ไม่มีตำแหน่งข้าราชการรองรับอย่างพียงพอ ต้องทำงานในตำแหน่งลูกจ้าง ในขณะที่ผู้เป็นข้าราชการก็ไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนให้ก้าวหน้าตามสายงานและวิชาชีพได้ (ตำแหน่งระดับสูงไม่มี ทำให้เงินเดือนตัน เลื่อนเงินเดือนไม่ได้) ทั้งนี้มีสาเหตุจากการที่กพ. กำหนดตำแหน่งและเงินเดือนไม่เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลชีวิตและสุขภาพของประชาชน ทำให้ข้าราชการขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้บริการประชาชน เกิดปัญหาสมองไหล ส่งผลย้อนกลับไป ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรมากขึ้น และประชาชนเสี่ยงต่อการได้รับบริการที่ล่าช้าและเสี่ยงต่อความเสียหายมากขึ้น
ในการสัมมนาที่แพทยสภาเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมนั้น ได้รับฟังความเห็นจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนา จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ได้มีความเห็นที่ค่อนข้างจะสอดคล้องต้องกันว่า ควรจะเริ่มดำเนินการในการแยกข้าราชการฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุขออกจากการกำกับของกพ. เพื่อให้สามารถกำหนดตำแหน่ง อัตรกำลัง และอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมตามภาระงาน ความรับผิดชอบ ความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละสาขาวิชาชีพ ทั้งในฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุข ทุกสาขา ให้เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการรักษาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการรักษามาตรฐานวิชาชีพ และการปฏิบัติงานอย่างมีความรับผิดชอบ และมีคุณธรรม จริยธรรม ไว้ในระบบราชการ เพื่อให้ประชาชน ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับบริการดี มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั่วกัน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประชาชนจะได้รับบริการที่มคุณภาพที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนและเกิดความสมานฉันท์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ
2. มีการร่วมมือจากทุกวิชาชีพ เพื่อกำหนดเป้าหมายในการจัดสรรบุคลากรให้พอเพียง และร่วม ร่างพระราชบัญญัติข้าราชการสาธารณสุข
3. กระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน
4. สร้างความรักและสามัคคีในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
5. นำร่องการปรับเปลี่ยนปัญหาเรื้อรังของแพทยสภาสมาชิกที่ปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และทีมงานทางการแพทย์อันประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขสาขาต่างๆ
ผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการแพทยสภา
(ร่าง) กำหนดการประชุมสัมมนาเรื่อง
“ การแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก กพ.”
วันที่ 17 มิถุนายน 2553
ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
…………………………………………………………………………
08.00 – 08.30 น. - ลงทะเบียน
พิธีเปิดโดย - ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา
08.45 -09.00 น. - นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวรายงาน
09.00 – 09.30 น. - ความเป็นมาของแนวคิดการแยกข้าราชการสาธารณสุขออกจาก กพ.
วิทยากร พญ. เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการ
09.30 – 10.00 น. - หลักการจัดสรรค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
วิทยากร นพ.เสรี หงษ์หยก
10.00 – 10.30 น . - หลักการและเหตุผลแยกข้าราชการสาธารณสุข
วิทยากร นพ. ประทีป เมฆประสาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียว
(อาหารว่าง ในห้องประชุม)
10.30 – 11.00 น. - ร่าง พระราชบัญญัติข้าราชการสาธารณสุข
วิทยากร พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล
นายสุกฤษดิ์ กิติศรีวรพันธุ์
11.30 – 12.00 น. - ยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จ
วิทยากร ดร. ทัศนีย์ บัวคำ และ นพ.อุสาห์ พฤฒิจิระวงศ์
12.00 – 13.00 น. - พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 – 15.00 น. - สัมมนากลุ่มย่อยเกี่ยวกับ ร่างพรบ. ข้าราชการสาธารณสุข
โดยความร่วมมือจากทุกสภาวิชาชีพ
วิทยากรจากบุคลากรทุกกลุ่ม ได้แก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิกการ
แพทย์ กายภาพบำบัด สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข
สาธารณสุขจังหวัด นักระบาดวิทยา
กรมอนามัย กรมควบคุมโรค
15.00 – 16.30 น. - นำเสนอผลการประชุมกลุ่ม
16.30 น. - ปิดการสัมมนา