สช.เตรียมเสนอร่างจัดตั้ง "บอร์ดพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ" ให้ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า หวังแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพให้ยั่งยืน ขณะที่ "แพทย์ รพศ./รพท." โวย ไม่มีตัวแทนแพทย์ผู้ให้บริการเข้าร่วม
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง "คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ" ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ข้อ 111 โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีระยะเวลาการทำงาน 3 ปี แต่หากมีภารกิจต่อเนื่องก็สามารถเสนอ ครม.ต่ออายุต่อไปได้
บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ มีหน้าที่ทั้งในด้านจัดทำนโยบายการเงินการคลังด้านสุขภาพ การยกร่างและ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการวิจัยและจัดการความรู้ การสื่อสารกับสังคม นอกจากนี้ ยังจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว
ส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการชุดนี้ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี รมว.คลัง รมว.สาธารณสุข เป็นรองประธาน นอกจากนี้ยังประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม, เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, อธิบดีกรมบัญชีกลาง และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข อีกทั้งยังมีตัวแทนผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกัน ทั้งข้าราชการ แรงงาน และประชาชนตัวแทนจากภาคประชาชน ทั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สื่อมวลชน ขณะนี้ทางร่างดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จ และพยายามจะเสนอเข้า ครม.ให้ทันในสัปดาห์หน้า
ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ รองประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ควรมีตัวแทนวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ตลอดจนวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่กำหนดโดยบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งเท่าที่ดูรายชื่อกรรมการส่วนใหญ่มีแต่ฝ่ายบริหาร และภาคเอ็นจีโอ ภาคประชาชน แต่กลับไม่มีตัวแทนแพทย์
"การตั้งคณะกรรมการชุดนี้เชื่อว่ามีเจตนาที่ดี แต่เหมือนเป็นการซ้ำเติม แพทย์อีก จะเอากันให้ตายหรือไง เหมือนเป็นการจ้องจับผิดการทำงานของแพทย์ เพราะผู้เข้าร่วมมีทั้ง เอ็นจีโอ ภาคประชาชนแต่กลับไม่มีแพทย์เลยแล้วจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดเชื่อว่าแพทย์ที่ทำงานก็คงลาออกหมด"