ต่อจากนั้น เป็นการอภิปรายของรศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้สรุปว่า หลังจากแปดปีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และได้เสนอข้อคิดเห็นดังนี้
1.ประสิทธิภาพดี สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ (แต่งบประมาณก็เพิ่มขึ้นทุกๆปี)
2.ผู้ป่วยยากจนได้รับการรักษา (ผู้ป่วยที่ไม่ยากจนก็ได้รับสิทธิเหมือนกัน)
3.ความปลอดภัยของผู้ป่วยมีมากขึ้นจากระบบ HA (การตรวจรับรองคุณภาพโรงพยาบาล)
แต่ความมั่นคงปลอดภัยของทีมรักษาพยาบาลลดลง ทำให้บุคลากรลาออกจากระบบมากขึ้น โดยเฉพาะแพทย์มีจำนวนลดลงเร็วมาก ซึ่งจะส่งผลไปยังความไม่มั่นคงของระบบในอนาคต
4.ประชาชนมีความพึงพอใจมากขึ้น (แต่ประชาชนก็ฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น)
5.ความเสมอภาค เป็นความเสมอภาคจริงหรือไม่ที่คนมีเงินก็ไม่ต้องจ่ายเท่าๆกับคนจน
6.การจ่ายเงินในราคากลางหรือระบบเหมาจ่ายรายหัว ร่วมกับวิธีจัดสรรค่ารักษาพยาบาลชนิดปลายปิด บีบให้โรงพยาบาลต้องเลือกใช้วิธีรักษาระดับมาตรฐานเดิมๆที่ราคายาและเทคโนโลยีไม่แพง หรือยาราคาถูกเพราะหมดลิขสิทธิ์แล้ว ซึ่งจะส่งผลไปยังการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศล้าหลังไป 20 ปี เพราะใช้ยาเก่าหรือเทคโนโลยีเก่าๆล้าหลังไป 10ปี พอเรียนจบเป็นผู้เชี่ยวชาญก็จะมีความรู้ล้าหลังไป 20 ปี ทำให้แพทย์ไทยที่(เคย)เก่ง ก็จะลดลง
7.ความยั่งยืนของระบบ มีผลกระทบเนื่องจากโรงพยาบาลมีภาระงานด้านเอกสารที่ถูกเร่งรัดข้อมูล ไม่เช่นนั้นถูกตัดเงินจากสปสช.
8.บุคลากรทำงานหนัก มีความเสี่ยงสูง ไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้ป่วยและสังคม และอาจตกเป็นจำเลยของสังคม
และถ้าแพทย์ทำผิดพลาด เหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป (Human Error) ก็อาจจะสูญเสียอนาคตจากการถูกตัดสินจำคุก
เยาวชนไม่อยากเรียนแพทย์ การทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความดีงามอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นการทำงานเพื่อรายได้เท่านั้น
และจะเป็นวงจรหมุนวนไปสู่สภาพการเลวร้ายลงเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข
นพ.สุธรรม ได้เสนอแนวทางแก้ไขดังนี้
1.ปรับลดบทบาทการใช้ “กลไกการเงิน” เป็นตัวจัดการระบบ
2.สร้าง National Health Information System เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาระบบสาธารณสุข
3.สร้างสมดุล 3 ฝ่ายคือผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ปัจจุบันสปสช.ใช้การจ่ายเงินเป็นอำนาจต่อรองเหนือกลุ่ม ผู้ให้บริการ โดยจะจ่ายช้า หรือจ่ายไม่ครบหรือหักเงินได้ฝ่ายเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการจ่ายเงินไม่ครบถ้วนตามสัญญา
ในขณะที่ผู้ให้บริการหากทำการรักษาพลาดพลั้งจะต้องชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยเป็นมูลค่าสูงกว่าที่กองทุนจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือสูงกว่าเงินเดือนเป็นหลายร้อยเท่า
ความสัมพันธ์ที่เคยดีระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หมดไป แพทย์มีความกดดันสูง ภาระงานหนัก มีการลาออก และสมองไหลไปสู่เอกชนมากขึ้น
ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน และได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยการกำหนดราคากลาง และค่าหัวให้เหมาะสม ควรระบุให้ฝ่ายรักษาและผู้ป่วยทราบล่วงหน้า
4. การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย การสร้างความร่วมมือของทีมรักษาต่างหน่วยงาน โดยกำหนดให้มีประชาชนในความรับผิดชอบร่วมกัน ในปัจจุบันนี้ระบบการจ่ายเงินปลายปิด และจ่ายไม่เต็มจำนวน ทำให้มีปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วย)
5.การสร้างกลไกพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานการแพทย์ของประเทศ ปัจจุบันนี้สปสช.ก้าวล่วงการปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ในการใช้ยาใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ โดยมีข้อจำกัดในการใช้ยาเหล่านี้