ต่อมาเป็นการบรรยายเรื่อง “สถิติจำนวนบุคลากรและภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์” โดยน.อ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ซึ่งสรุปได้ว่า จำนวนแพทย์ที่ถูกบังคับจัดสรรเข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุขทุกปีนั้น ได้มีการลาออกมากขึ้น จนทำให้มีแพทย์ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขพียง 12,500 คน แต่มีแพทย์ที่ปฏิบัติงานจริงเพียงประมาณ 7,000 คน ในขณะที่มีผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลถึง140.5 ล้านครั้งในแผนกผู้ป่วยนอก และ5.21 ล้านครั้งแบบผู้ป่วยใน(ซึ่งถ้าวันนอนเฉลี่ยประมาณ 3 วัน) ก็จะทำให้แพทย์ต้องไปตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ2- 3 ครั้ง ทำให้จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ต้องรับการตรวจรักษาจากแพทย์ปีละประมาณ 180 ล้านครั้ง และถึงแม้จำนวนบัณฑิตแพทย์จบใหม่จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็ยังมีความขาดแคลนอยู่ เพราะการจัดสรรแพทย์ใช้ทุน เป็นไปตามระบบ GIS ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับภาระงานที่แท้จริงของแพทย์ ทำให้มีการลาออกอยู่เสมอ นอกจากนั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจกำหนดโควต้าการเรียนต่อเฉพาะทาง ทำให้แพทย์ที่ไม่ได้เรียนต่อในสาขาที่ต้องการ ต้องลาออกเพื่อไปเรียนต่ออีกด้วย