ปัญหาคนไม่พอ เร่งผลิต ถ้าให้คิดคือคุณดึงคนอยู่ในระบบไม่ได้
วันนี้ คุณวิเคราะห์ปัญหาถึงรากเหง้ากันหรือยัง? เป็นเสียงสะท้อนจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย หลังมีข่าวนโยบายเพิ่มจำนวนพยาบาลเข้าสู่ระบบ
1 ต่อ 343 คน คือตัวเลขเฉลี่ยของสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อจำนวนประชากรในประเทศไทย และ 1 ต่อ 712 คน คือสัดส่วนในจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งพยาบาลขาดแคลนมากที่สุด ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุสัดส่วนที่ควรจะเป็นไว้ที่ 1 ต่อ 270 คนเท่านั้น โดยพบว่าเฉลี่ยแล้ว ไทยยังขาดแคลนพยาบาลอยู่มากถึง 51,420 คน
จากข้อมูลที่สะท้อนปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชนนี้ สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล จึงมีข้อเสนอในการผลิตพยาบาลเพิ่มเฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากสาขาใดก็ได้ เรียนต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเห็นชอบกับนโยบายนี้ และจะเริ่มดำเนินการในปี 2568
การเพิ่มคนเข้าระบบเพียงอย่างเดียวจะเป็นการแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนได้จริงหรือ? หรือมีปัจจัยอะไรมากกว่านั้น? นี่เป็นประเด็นที่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนทั่วไปกำลังวิจารณ์ถึงนโยบายนี้บนโซเชียลมีเดีย The MATTER จึงไปรวบรวมคำตอบต่อคำถามเหล่านี้มาให้
สรุปปัจจัย ทำไมพยาบาลถึงลาออก
1.ไม่มีความก้าวหน้า : พยาบาลจำนวนมากตำแหน่งเงินเดือนตันเนื่องจากระบบ ระบบก้าวหน้าไม่เป็นไปตามความรู้ความสามารถ แม้จะจบปริญญาโทเอก แต่ก็ยังต้องอยู่ในระดับชำนาญการ
2. งานหนัก : พยาบาลต้องทำงานติดต่อกันถึง 24 ชั่วโมง และเพราะคนไม่เพียงพอ จึงมีภาระงานมากถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สวนทางกับประกาศจากสภาการพยาบาลเรื่องนโยบายชั่วโมงการทำงาน ว่าพยาบาลไม่ควรทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือหากมากกว่านั้นต้องเป็นไปตามความสมัครใจ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวันติดกันเกิน 3 วันใน 1 สัปดาห์
3. เงินน้อย : ค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพ ตามประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ 1,000-22,800 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดจากค่าเวร 600 บาทต่อวัน และเวรบ่ายดึก 240 บาทต่อวัน นอกจากนั้นยังมีค่าตอบแทนที่ประมาณการไม่ได้ เช่น การช่วยผ่าตัด ช่วยเตรียมผู้ป่วย หรือคลินิกนอกเวลา
4. สวัสดิการบ้านพัก : สภาพบ้านไม่พร้อมแก่การอยู่อาศัยเพราะโครงสร้างไม่ได้รับการซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน และจากสถิติในปี 2561 บ้านพักพยาบาลยังไม่เพียงพออีกกว่า 7,000 แห่ง
โดยผลสำรวจจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ในปี 2563 เก็บข้อมูลจากพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 4,563 คน พบว่า เบื่อระบบ ไม่ก้าวหน้า และรายได้ไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยสามอันดับแรกที่ทำให้อยากลาออก ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 46% ตอบว่าคิดจะลาออกก่อนเกษียณ ซึ่งในปัจจุบัน ข้อมูลจากสภาการพยาบาลเผยว่า มีจำนวนพยาบาลลาออกเฉลี่ยปีละ 7,000 คน
The MATTER ไปคุยกับ เตย (นามสมมติ) นักศึกษาพยาบาลจบใหม่ ถึงความรู้สึกที่มีต่อประเด็นนี้ เตยบอกเราว่า เรามีความกังวลกับการทำอาชีพพยาบาลในอนาคต เพราะจบแล้วยังต้องใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐ แบกรับความเสี่ยงเรื่องการฟ้องร้อง และงานหนัก แต่เงินน้อย
เตยจึงเห็นว่านโยบายการแก้ไขปัญหานี้ไม่ตรงจุด และยังกังวลกับการให้เรียนพยาบาลต่อเพียงสองปีครึ่ง โดยเห็นว่าจำนวนเวลาที่น้อยอาจไม่เพียงพอต่อเนื้อหาทั้งหมดและไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอ จึงอาจไม่เป็นผลดีกับผู้เข้าใช้บริการหรือผู้ป่วยได้
ในด้านของประชาชนทั่วไป มีการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ทั้งไม่เห็นด้วยกับนโยบาย เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และคิดว่าทักษะที่ได้จากเวลาเพียงสองปีครึ่งอาจไม่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ดี อีกฝั่งหนึ่งเห็นด้วยกับการให้เรียนจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้และเรียนต่อพยาบาลอีกสองปีครึ่ง เพราะพยาบาลเป็นอาชีพที่ขาดแคลนทั้งในและนอกประเทศ และเห็นว่าจะได้มีคนเพิ่มขึ้นเพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน
โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เล่าถึงรายละเอียดหลักสูตรนี้ว่า เป็นหลักสูตรเร่งรัดมาตรฐาน ใช้เวลาผลิต 2 ปีครึ่ง รับจากผู้จบการศึกษาปริญญาตรี ไปต่อยอดเร่งรัดการผลิต ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อสังเกตกระบวนการผลิต หลักสูตรการรับรอง ความพร้อมของแหล่งผลิต เรื่องงบประมาณ จึงให้ทาง สบช. และผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป
หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากถึงความไม่เหมาะสมของนโยบาย จึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์การขาดแคลนพยาบาล รวมถึงบุคลากรทางสาธารณสุขต่างๆ จะถูกแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลออกจากระบบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
23 February 2024
https://thematter.co/brief/thai-nurse-problems-in-system/222940