ทำงานมาถึง 28 ปี แต่ยังได้เงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เป็นเสียงสะท้อนที่ น.ส.อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ผู้ประสานงานกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค เล่าให้ The Coverage ฟัง
ด้วยการทำงานที่เป็น ผู้สนับสนุน ในระบบสุขภาพ มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบซับซ้อน ทั้งต้องอ่านออเดอร์ของแพทย์ให้ได้ จำชื่อยาทั้งฉีด ยาเม็ด คำนวณโดสยา ต้องจัดยาอย่างรวดเร็ว แม่นยำ เข็นถาดอาหารให้ผู้ป่วยใน (OP) บางครั้งต้องเข็นผ้า และชุดเปื้อนเลือดส่งซัก แต่ในขณะเดียวกัน ภาระงานที่ต้องแบกรับไม่สอดคล้องกับ เงิน และสวัสดิการ ที่ได้
ทำให้กลุ่มลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ตัดสินใจส่งตัวแทน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนร่วม 20 คน เดินหน้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือติดตามการขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของลูกจ้าง และ พกส. ใน 6 ประเด็นสำคัญ
ประกอบด้วย
1. ให้กำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง คือ
1.1 ให้ลูกจ้างรายวัน รายคาบ และจ้างเหมา เป็นลูกจ้างรายเดือน และลูกจ้างรายเดือนเป็น พกส.
1.2 ให้ พกส. ทุกสายงาน ได้ปรับเป็นพนักงานราชการ
2. ให้ พกส. ได้รับค่าตอบแทนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โดยให้มีการปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิม 3,000 บาท
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนแบบขั้นบันได คืออายุงาน 3-5 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 20%, อายุงาน 6-10 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 40%, อายุงาน 11-15 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 60%, อายุงาน 16-20 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 80%, อายุงาน 21-25 ปี ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 100%, โดยปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือนในปัจจุบัน และนับอายุงานตั้งแต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ในกรณีอายุงานเศษ 6 เดือนขึ้นให้ปรับเป็น 1 ปี และคิดปรับเพิ่มเงินเดือนจากยอดเงิน 3,000 บาท
3. ให้การปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปี ให้มีการปรับเพิ่มปีละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2.5%
4. ขอพิจารณาสวัสดิการของ พกส. เพิ่มเติม คือ 4.1 ขอสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างประจำ 4.2 ยกเลิกสัญญาจ้างจากเดิม 4 ปี 60 ปี (เปลี่ยนจากการต่อสัญญาจ้างเดิม 4 ปี/ครั้ง เป็นทำงานต่อได้จนเกษียณอายุราชการ)
5. ความคืบหน้าของการบรรจุข้าราชการ พกส. 63 สายงาน (Back Office) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา
6. พิจารณาค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษให้สำหรับพนักงานขับรถยนต์ที่ปฏิบัติงานยามวิกาล (อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.thecoverage.info/news/content/6212)
สำหรับความพยายามที่จะเรียกร้องความก้าวหน้านี้ น.ส.อภิสราธรณ์ บอกว่า จริงๆ แล้วมีการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 โดยในขณะนั้นเป็นการขอให้มีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ เนื่องจากเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนตำแหน่งจากลูกจ้างประจำเป็น พกส. โดยเธอขยายความเพิ่มเติมว่า การถูกเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็น พกส. นั้น ควรจะมีความก้าวหน้าในสายงาน แต่กลับกันสวัสดิการที่ได้รับเหมือนถอยหลังลงคลอง
"พี่เองจบปริญญาตรี จบมาก็คาดหวังว่าทำไปเถอะ อยู่ในพื้นที่บ้านเรา หวังจะได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ แต่ก็ถูกยุบ พวกพี่ถูกลอยแพไหม? ไม่มีใครรับผิดชอบตรงนี้เลย"
น.ส.อภิสราธรณ์ กล่าวว่าเธอ และเพื่อนร่วมอาชีพต้องอยู่กันแบบนี้มาเกือบ 20 ปี บนฐานเงินเดือนที่ไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังต้องต่อสัญญาการทำงานทุกๆ 4 ปีด้วย พร้อมกับเปรียบเทียบด้วยว่า ในอายุงาน 20 ปี หากเป็นลูกจ้างประจำจะมีเงินเดือนอยู่ราว 2-3 หมื่นบาท และมีสวัสดิการที่เทียบเท่าข้าราชการทุกอย่าง ยกเว้นเงินเดือนที่ได้น้อยกว่า
แม้ว่าที่ผ่านมา ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จะมีการพูดถึงการบรรจุกรณีพิเศษ แต่ก็ดูไม่เห็นวี่แวว เนื่องจากได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำได้ และยังมีจุดที่เธอมองว่าย้อนแย้งอยู่ เพราะมีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ ในกลุ่มวิชาชีพราว 4.5 หมื่นอัตรา
ผู้บังคับบัญชาหลายคนยังอยากได้ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (ซี8) เพราะก็ต้องการความก้าวหน้าทั้งที่เงินเดือนเขาอาจจะ 4-5 หมื่นกว่าบาท แล้วพวกพี่ล่ะ? เพื่อนพี่อายุงาน 28 ปี เงินเดือน 1.3 หมื่นบาท
นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ที่ 1.8 หมื่นบาท จาก 1.5 หมื่นบาทใน 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568
จากข้อมูลข้างต้น น.ส.อภิสราธรณ์ บอกว่าเธอยินดีด้วย แต่ก็อยากให้มีคนกลับมาดูกลุ่มลูกจ้าง และ พกส. บ้าง พร้อมกับอธิบายต่อไปอีกว่า ด้วยจำนวนเงินที่ได้รับยังส่งผลกระทบถึงตอนเกษียณ โดยจะได้เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมประมาณเดือนละ 3,000-4,000 บาทเท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็น 6 ประเด็นข้างต้นที่ต้องการเรียกร้อง ซึ่งเธอบอกว่าภายใต้ข้อเรียกร้องนั้น มีสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดอยู่ 2 เรื่อง คือการปรับเพิ่มจากฐานเงินเดือน 3,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการประเมินงาน และขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง
พี่อยากจะขอเงินให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ข้าว น้ำมันก็แพง พวกพี่อยู่ไม่ได้ เมื่ออยู่ไม่ไหวก็ต้องมาเรียกร้อง และยังให้มีความไม่เท่าเทียมด้วย เพราะกลุ่มพวกพี่จะมีการประเมินผลงานประมาณ 2 ครั้งต่อปี ขึ้นเงินเดือนให้พวกพี่ครั้งเดียว แต่กลุ่มข้าราชการประเมิน 2 ครั้ง ขึ้นเงินเดือน 2 รอบ
แล้วแบบนี้จะไปถึงดาวอังคารเมื่อไหร่? เธอตั้งคำถามทิ้งท้าย
The Coverage Insight 19 กุมภาพันธ์ 2567