ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปการสัมมนาเรื่องการแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.  (อ่าน 6903 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
สรุปเนื้อหาการสัมมนาเรื่อง
การแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.
วันที่ 17 มิถุนายน 2553
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
มีผู้เข้าร่วมการสัมมนา 600 คน ประกอบด้วยบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ/อาชีพ ได้แก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิกการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ และหมออนามัย รวมทั้งสมาชิกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข โดยใช้เวลาสัมมนาตั้งแต่เวลา 9.00น.ถึง 16.00 น.
   นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา โดยมีศจ.คลินิกนพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา เป็นผู้กล่าวรายงานโดยสรุปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาการขาดแคลนบุลากรมาตลอด และยิ่งขาดแคลนมากขึ้น หลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เนื่องจากภาระงานในการตรวจรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนมีความเสี่ยงต่อความเสียหายและฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น ทำให้แพทย์มีความเครียดและลาออกจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น ในขณะเดียวกัน กพ.ก็มีนโยบายที่จะลดจำนวนข้าราชการลง โดยไม่มีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการมารองรับบุลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ถูกบังคับให้เข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้บุคลากรเหล่านี้ต้องทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเงินเดือนต่ำ แต่ไม่มีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ ทำให้ขาดขวัญกำลังใจที่จะทำงานในระยะยาว มีการลาออกของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขจึงเป็นปัญหาเรื้อรังของกระทรวงสาธารณสุข
ในฐานะที่แพทยสภามีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525 มาตรา 7(5)  ให้ความเห็นและคำแนะนำแก่รัฐบาลในปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ แพทยสภาโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการ จึงได้จัดสัมมนานี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขนี้ และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชน ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีมีมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบุคลากรสาธารณสุขก็มีขวัญกำลังใจที่ดี ในการทำงานบริการประชาชน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้น นายแพทย์ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวว่า ตนเองได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข และคิดว่า ทางแก้ไขปัญหาอาจจะมี 3 แนวทางคือ   
1.   อยู่กับ กพ.เหมือนเดิม แต่จะต้องไปต่อรองกับรัฐบาลทุกปี ในการขอเงินค่าตอบแทนประจำปีในกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
2.     คือการแยกจาก กพ.
3.   การตั้งกองทุนกระทรวงสาธารณสุข   คล้ายกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยมีการสมทบจ่ายระหว่างภาครัฐและเจ้าหน้าที่ ซึ่งพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระบบนี้ จะได้รับเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดในระยะยาว

โดยปลัดกระทรวงกล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มีนายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีตัวแทนจากทุกสาขาวิชาชีพ มาร่วมศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีบุคลากรทำงานในกระทรวงสาธารณสุข อย่างเพียงพอ และมีความสุขในระดับหนึ่ง เมื่อศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางแล้ว จะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับทุกคนที่ทำงานในกระทรวงของสาธารณสุข จึงต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม
 พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอว่า การสัมมนาในวันนี้ จะมีข้อสรุปอย่างไร ก็ขอให้รายงานผลการสัมมนาให้ปลัดกะทรวงทราบ เพื่อจะได้ทำประชาพิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับทุกคนที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข
 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น บุคลากรมีภาระงานมากขึ้น แต่สัดส่วนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เพียงพอกับสัดส่วนผู้ป่วย ขณะเดียวกันต้องเข้าใจรัฐบาลซึ่งจะต้องควบคุมจำนวนข้าราชการไม่ให้เพิ่มขึ้น  เพราะจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณ ส่งผลให้ไม่มีเงินในการพัฒนาประเทศ จึงต้องหาแนวทางอื่นๆ ด้วยนอกเหนือการออกจาก กพ. เช่น การผสมผสานข้าราชการระบบเดิม กับระบบใหม่ที่พนักงานไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เงินเดือนสูงขึ้นและมีกองทุนให้เมื่อเกษียณก็จะมีเงินที่ใช้ดำรงชีพต่อไป ได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างเร่งศึกษาให้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเข้าใจความรู้สึกของคนทำงานว่ามีความลำบาก ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 240,000 คน และลูกจ้างชั่วคราวอีกประมาณ 100,000 คน ซึ่งในการแก้ไขปัญหาจะต้องคิดให้รอบคอบทั้งระบบ และฟังข้อสรุปของแต่ละแนวทางให้ได้ข้อมูลทั้งหมด เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป 

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
หลังจากปลัดกระทรวงกล่าวจบแล้ว วิทยากรคนต่อไปคือพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานคณะอนุกรรมการ พิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการของแพทยสภาได้ถามที่ประชุมว่า จะรอให้คณะทำงานของปลัดกระทรวงรายงานผลการศึกษา หรือเราจะถามกันตรงนี้เลย  แล้วพญ.เชิดชู ได้ถามที่ประชุมว่า  “ใครไม่เห็นด้วยที่จะออกจากกพ. ให้ยกมือขึ้น” ก็ไม่มีใครยกมือ  พญ.เชิดชู จึงได้ถามใหม่ว่า ใครเห็นด้วยกับการออกจาก กพ.ให้ยกมือขึ้น ปรากฎว่าคนในห้อง ประชุมยกมือขึ้นทั้งห้องเลย
พญ.เชิดชู จึงหันไปพูดกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ขอเรียนให้ท่านปลัดฯทราบว่า มติของที่ประชุมคือทุกคนขอให้แยกบุคลากรสาธารณสุขออกจาก กพ. ให้ท่านปลัดไปรายงานรมว.สธ.ได้เลย และให้รีบดำเนินการทันที ไม่ต้องไปศึกษาอะไรต่อไปให้เสียเวลาอีกแล้ว  แต่ถ้าปลัดยังไม่ทำอะไร พวกเราก็จะรวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอพ.ร.บ.นี้เข้าสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเอง ตามสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเสนอกฎหมายได้  ปลัดกระทรวงได้ยินดังนั้น ก็ได้แต่ยิ้ม โดยมิได้กล่าวรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใดทั้งสิ้น และขอตัวออกจากห้องประชุมไป
  พญ.เชิดชู ได้กล่าวในที่ประชุมอีกว่า บุคลากรต่างๆที่ถูกบังคับให้ชดใช้ทุนอีกประมาณ20,000 คน ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือนก็ไม่ขึ้น อาชีพไม่มีความก้าวหน้า สวัสดิการไม่ดี เสี่ยงต่อความผิดพลาด ดังนั้นเมื่อกพ.ไม่ยอมอนุมัติให้บรรจุข้าราชการ จึงควรต้องมีการ “ปฏิรูประบบราชการของสธ.โดยแยกออกจาก กพ."
 ทั้งนี้หลังจากที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 บังคับใช้ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นนั้น  กลับเป็นการสร้างปัญหาแก่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการให้บริการสาธารณสุข ด้วยภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งสวนทางกับปริมาณบุคลากรที่มีอยู่ ประกอบกับการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ที่มี ข้อจำกัดเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังคน การเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อจูงใจและการสร้างขวัญกำลังใจ ยังผลให้กำลังคนขาดแคลน คนที่ทนงานหนักไม่ไหวก็ลาออกไป คนที่ยังเหลืออยู่ก็ยิ่งทำงานหนักยิ่งขึ้น  งบประมาณด้านบริหารสะดุด กระทบกับมาตรฐานคุณภาพการบริการ ร้ายแรงถึงขั้นเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน จนปรากฏกรณีคดีความฟ้องร้องระหว่างคนไข้กับบุคคลากรทางการแพทย์ให้เห็นอย่างมากมาย เป็นข่าวดังๆอยู่ทั่วไป
  ทางออกของปัญหาสะท้อนผ่านการตกผลึกทางความคิดของบุคลากรสาธารณสุข ภายใต้การขับเคลื่อนของแพทยสภา คือ การแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออก จาก กพ.
 
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ใน ภาคราชการ แพทยสภา เล่าว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องรับบทหนักมาก เมื่อเกิดความผิดพลาดในการรักษาก็ถูกฟ้องร้องได้อีก ทั้งนี้ยังพบว่าสธ.ยังขาดบุคลากรประจำเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กพ.ไม่ยอมอนุมัติให้เพิ่มจำนวน
 
“ตอนนี้ไม่มีบรรจุเลย มีแต่บรรจุลูกจ้างชั่วคราว 20,000 คน เงินเดือนก็ไม่ขึ้น อาชีพไม่มีความก้าวหน้า สวัสดิการไม่ดี เสี่ยงต่อความผิดพลาด ดังนั้นเมื่อกพ.ไม่ยอมอนุมัติให้บรรจุข้าราชการ จึงต้องมีการปฏิรูประบบราชการของสธ.ออกจาก กพ.” พญ.เชิด ชู กล่าว
 

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
นพ.ประทีป เมฆประสาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียว อธิบายว่า สาเหตุที่สธ.จะไม่ใช้บริการของกพ. เนื่องมาจาก สธ.มีบุคลากรหลากหลายวิชาชีพและสายวิชาชีพมากที่สุด โดยเป็นการให้บริการแก่บุคคลทุกสัญชาติตามหลักมนุษยธรรม แต่อย่างไรก็ตามจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นเหตุให้กพ.ประกาศลดวงเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนแก่ข้าราชการสธ.ลง พร้อมกันนี้ปี 2545 มีการใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเกิดปัญหาอย่างรุนแรง
 
“ปัญหาคือเมื่อประกาศใช้พ.ร.บ. นี้แล้ว การกระจายตัวเพื่อใช้บริการกลับไม่กว้างขวาง ทำให้งบประมาณกระจุกตัว กลายเป็นภาวะบุคลากรสมองไหล คือย้ายไปทำในที่ๆ ดีกว่า ส่วนผู้ที่ยังอยู่ที่เดิมก็ต้องแบกภาระหนักกว่าเก่า และเกิดความผิดพลาดในการทำงานในที่สุด”

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ต่อมานพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ สาธารณสุขนิเทศก์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข เขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวง ให้มาบรรยายเรื่องหลักการจัดสรรค่าตอบแทนที่เป็นธรรม กล่าวว่า ในปัจจุบันต้องมีการจ่ายผลตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใน 3 ส่วน คือ 1.เงินเดือนประจำ ซึ่งต้องปรับขึ้นตามอายุราชการ
2.เงินเพิ่มพิเศษ จ่ายเท่ากันและสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน (เงินพ.ต.ส. )และพิจารณาตามพื้นที่ทำงาน (เงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย) ซึ่งจะจูงใจให้บุคลากรอยู่ในระบบราชการ
 3.เงินเพิ่มพิเศษจ่ายตามภาระงาน (เงินค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ)
 
ทั้งนี้ต้องเป็นการจ่ายแบบปีต่อปีและครอบคลุมทุกคนในวิชาชีพ แต่อาจจะได้ไม่เท่ากันบ้าง อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2554 จะของบกลางอีก 5,000 ล้าน เพื่อนำมาจ่ายในส่วนนี้

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ต่อมานายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์ นักกฎหมายมหาชน ได้กล่าวว่าการดำเนินการหลังจากนี้ ในเมื่อกพ.ยังไม่อนุมัติตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวให้แก่สธ. ซึ่งจะกระทบต่อทุกส่วน ย่อมเท่ากับว่ารัฐไม่สามารถให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนได้ ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนทำได้ในตอนนี้คือการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข ตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2550
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ได้นำเสนอแบบร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ. .... แก่ที่ประชุม ซึ่งได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์พ.ร.บ.นี้เป็นครั้งแรก ซึ่งทางคณะผู้จัดสัมมนาได้บันทึกการประชุมนี้ไว้แล้ว เพื่อจะได้ถอดเทปการสัมมนา มาพิจารณารายละเอียด ในการดำเนินการต่อไป
ส่วนนพ.อุสาห์ พฤฒิจิรวงศ์ และดร.ทัศนีย์ บัวคำ  ก็ได้แสดงทัศนะในการหาแนวทางที่จะบรรลุผลสำเร็จในการขอแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.ต่อไป

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ความเห็นของคุณชุมศรี พจนปรีชา รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งได้รับเชิญมาเป็นวิทยากร ในการให้ความเห็นจากสำนักงบประมาณถึงความเป็นไปได้ที่จะแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.โดยได้กล่าวสรุปในการสัมมนาเมื่อวันที่ 17 มิย. 2553 ดังนี้
1. การแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ. มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรแพทย์ พยาบาลหรือบุคลากรในโรงพยาบาล/สถานีอนามัย เป็นบุคลากรที่มีวิชาชีพ/ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในระดับสูง ความรับผิดชอบสูง เนื่องจากต้องรับผิดชอบ "ชีวิต" ของประชาชน
 2.ต้องมีหลักการและกรอบการดำเนินการดังนี้ คือต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้
2.1 แยกแล้วประชาชนได้อะไร?
  ตอบ ประชาชนจะได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ตรวจคัดกรองก่อนเจ็บป่วย ตรวจรักษาโรค และฟื้นฟูสภาพ เนื่องจากมีบุคลากรเหมาะสม สามารถให้บริการที่มีมาตรฐาน
ประชาชนไม่เสี่ยงต่อความผิดพลาด ไม่เสียหาย และไม่ต้องฟ้องร้องขอเงินชดเชย และประชาชนไม่ต้องรอนาน ประชาชนสามารถสร้างสุขภาพและป้องกันโรคได้
2.2 แยกแล้วจะแก้ปัญหาให้กับกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างไร
ตอบ เมื่อแยกมาเป็นกสธ.(คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข)แล้ว กสธ.ก็จะสามารถจัดสรรตำแหน่งและค่าตอบแทนเหมาะสม บุคลากรก็จะมีขวัญกำลังใจดี มีความสบายใจในการทำงาน ไม่ต้องลาออกไปแสวงหางานในโรงพยาบาลเอกชน  ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของ กระทรวงสาธารณสุขได้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดให้มี บริการสาธารณที่ดีมีมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง ประชาชนมีสุขภาพดี
2.3 ผลกระทบต่อภาระการเงินของรัฐบาล เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน?
ตอบ เงินเดือนและค่าตอบแทนตามภาระงานที่เหมาะสม อาจจะต้องเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลต้องมีหน้าที่บริหารจัดการในส่วนอื่นมาทดแทน เช่น สปสช. ที่มีเงินใช้ฟุ่มเฟือย บุคลากรมีเงินเดือนสูง และกำหนดอัตราเงินเดือนได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยพ.ร.บ.เงินเดือนและงบประมาณของทางราชการเลย
ทั้งนี้ ถ้าบุคลากรสาธารณสุขมีรายได้เหมาะสม (ไม่ต้องมากเท่าเอกชน แต่อย่าให้แตกต่างกันแบบฟ้ากับเหว) หรือสามารถดำเนินการป้องกันโรคและอุบัติเหตุได้ดี  ประชาชนมีการเจ็บป่วยน้อยลง หรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว รัฐบาลก็จะสามารถประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลลงได้เป็นอย่างมาก


khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ล่าสุดมติของที่ประชุมสัมมนาเรื่อง  “การแยกข้าราชการและบุคลากรของกระทรวง สาธารณสุขออกจาก กพ.” ซึ่งมีข้าราชการเข้าร่วมกว่า 600 ชีวิต ต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่าควรออกจากระบบของ กพ. พร้อมกันนี้ยังได้แจกแบบฟอร์มเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข ให้ศึกษาอีกด้วย
 

somnuk

  • Staff
  • Newbie
  • ****
  • กระทู้: 48
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณสำหรับข้อมูลข่าวคราวต่างๆ  ;)

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
ต้องออกจาก กพ.แล้วล่ะ