ผู้เขียน หัวข้อ: แผนการปฏิรูปประเทศไทย-กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง-(ปฏิรูปสาธารณสุข)  (อ่าน 2756 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
1.  โครงการปฏิรูปการบริการด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ
          ประชาชนทุกคนควรได้รับการส่งเสริมให้มีสุขภาพดี ตามคำกล่าวของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เพราะเมื่อร่างกายเจ็บป่วย สมรรถภาพในการดำรงชีวิตก็ลดน้อยลง  ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันไม่เป็นไปตามปกติหรือหมดสมรรถภาพไปเลย ฉะนั้น จึงนับได้ว่าสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญที่สุดสำหรับการดำรงชีวิตของคนทุกคน ซึ่งความหมายของคำว่าสุขภาพนี้ หมายรวมทั้งความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และจิตวิญญาณ  ไม่ได้หมายความเฉพาะว่าไม่มีโรคหรือความพิการเท่านั้น แต่เมื่อเกิดความเจ็บป่วยแล้ว ก็สามารถได้รับบริการดูแลสุขภาพได้อย่างทั่วถึงทุกคน
และมนุษย์ทุกคน ก็ควรมีสุขภาพดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงเชิงตะกอน
  การที่ประชาชนจะมีสุขภาพดีนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดคือประชาชนต้องมีความรู้ความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ สามารถป้องกันโรคและอุบัติเหตุ และสามารถรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้เอง และมีความรู้ว่า เมื่อใดควรรีบไปพบแพทย์ มิฉะนั้นอาการเจ็บป่วยจะรุนแรงจนเกิดอันตรายได้ และเมื่อเจ็บป่วยแล้ว ก็ มีหลักประกันว่า จะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีมีมาตรฐาน มีความปลอดภัย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ตามสถานภาพของแต่ละคน
  ส่วนรัฐบาลก็จะต้องจัดให้มีบริการสาธารณะในด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสม มีมาตรฐาน เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี การบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขได้แก่
1.การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดมลภาวะ ทั้งทางอากาศ น้ำ การขจัดของเสีย อาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดไปจนถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด การกำจัดแมลง และพาหะนำโรค การสอบสวนโรคและการควบคุมและกำจัดโรคระบาด
2. การให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้เอง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปในทางสร้างเสริมสุขภาพ สามารถป้องกันโรคและอุบัติเหตุ สามารถปฐมพยาบาล (รักษาพยาบาลเบื้องต้น) ได้เอง และรู้ว่าอาการเจ็บป่วยใดที่เป็นอันตรายที่ควรต้องไปพบแพทย์ทันที มีการไปตรวจสุขภาพและตรวจร่างกายก่อนเกิดโรค และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
3.การจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งการมีหลักประกันสุขภาพ ที่จะทำให้ประชาชนแน่ใจได้ว่า จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ เมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพ
ปัญหาสำคัญของการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย

ปัจจุบันนี้ มีปัญหาสำคัญอยู่ 2 ปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกันในระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวคือ

1.ปัญหาเรื่องมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลของรัฐที่จัดไว้เป็นบริการสาธารณะนั้น มีความขาดแคลนไม่เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่า มี “ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล” ผู้ป่วยแออัดยัดเยียดเพื่อรอรับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยเสียเวลารอคอยในการรับบริการนานเป็นครึ่งค่อนวัน นอกจากนั้น ผู้ป่วยในที่นอนพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ก็มีจำนวนมากจนล้นเตียง ทั้งเตียงเสริม เตียงแทรก ห้องพักผู้ป่วยก็มีไม่เพียงพอ ต้องนอนตามระเบียง หน้าบันได หน้าลิฟท์  (ถ้าไม่เชื่อก็จงไปโรงพยาบาลของรัฐบาลได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ท่านก็จะเห็นประจักษ์ด้วยตาของท่านเอง)

 การที่ประชาชนต้องเสียเวลาในการรับบริการเป็นเวลานาน  มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ
           1. ประชาชนป่วยมาก เพราะไม่ได้สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งไม่มีความรู้ในการปฐมพยาบาล
            2. ประชาชนได้รับการส่งเสริมให้มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาได้โดยไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบใดๆ
            3. บุคลากรทางการแพทย์มีน้อย  ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ในทันที และบุคลากรทางการแพทย์ต้อง “เร่งมือ” ในการตรวจรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ประชาชนได้รับการตรวจรักษาให้ได้ทุกคน

ความเสี่ยงอันตรายของประชาชน
การที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องรีบเร่งทำงานในการตรวจรักษาผู้ป่วย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด ขาดความระมัดระวัง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์เองก็เสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนและถูกฟ้องร้อง
 การที่มีจำนวนประชาชนที่เจ็บป่วยมารับบริการมากขึ้นนั้น อาจแสดงว่า ประชาชนไม่สามารถสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ และไม่สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เอง หรือประชานอาจจะทำได้ แต่ไม่ทำเอง เพราะรัฐบาลโฆษณาว่า ไปรับบริการได้ทุกโรคตลอดเวลา โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเลย?

2.ปัญหาเรื่องหลักประกันสุขภาพ ปัจจุบันนี้มีความไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมกันในระบบการประกันสุขภาพของประชาชนไทย เนื่องจากพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนไทย กล่าวคือ
       2.1 รัฐบาลจ่ายเงินแทนประชาชนทั้งจนและไม่จน เพียง 47 ล้านคนในจำนวนประชาชนทั้งสิ้นประมาณ 63 ล้านคน ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร คือส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มนี้ซึ่งรวมทั้งประชาชนที่ยากจน และไม่ยากจน มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนกลุ่มอื่น ในการได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร โดยไม่ต้องมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลสุขภาพแต่อย่างใดทั้งสิ้น
   การที่รัฐบาลจ่ายเงินทั้งหมดในการดูแลสุขภาพ (Healthcare) นั้นนอกจากจะเกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมแล้ว ยังทำให้ประชาชนมารับบริการมากเกินไป โดยไม่รับผิดชอบพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ และใช้ยาโดยไม่เห็นคถุณค่า ก่อให้เกิดการศูนย์เสียงบประมาณและทรัพยากรของชาติอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และทำให้ประเทศชาติต้องเพิ่มงบประมาณเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น มีอัตราเพิ่มงบประมาณสูงกว่าการเพิ่มงบประมาณด้านอื่นๆ และจะเป็นภาระหนักของงบประมาณแผ่นดินในอนาคต
       2.2 ในขณะที่ประชาชนที่(ส่วนมาก)ยากจนแต่ขยันทำงาน  โดยทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน กลับต้องจ่ายเงินจากเงินเดือนของตนเอง 5%ทุกเดือนสมทบกับนายจ้างเท่าๆกัน โดยรัฐบาลจ่ายสมทบเพียง 2.75 เปอร์เซ็นต์ เข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน จึงจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น (ย้ำ เฉพาะเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น) คือการบริการด้านสุขภาพของผู้ประกันตนนี้ ไม่รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนมีอาการป่วย (มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มบัตรทอง ทั้งๆที่จนกว่า และต้องจ่ายเงินเองนับว่าเป็นผู้เสียเปรียบประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ)โดยที่ประชาชนส่วนนี้ได้รับสิทธิอื่นๆตามพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533  อีกส่วนหนึ่งด้วย
         2.3   ส่วนประชาชนที่เป็นข้าราชการ เป็นกลุ่มคนที่ยอมทำงานเงินเดือนน้อย เพื่อจะได้รับการชดเชยจากการมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล   ซึ่งสวัสดิการนี้ได้รับเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น ไม่รวมการป้องกันโรคหรือการตรวจคัดกรองโรค แต่ในปัจจุบันนี้รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางกำลังลิดรอนสิทธิในการรักษาลง เช่นห้ามใช้ยาบางอย่าง ทั้งๆที่แพทย์เห็นว่าจำเป็นสำหรับผู้ป่วยนั้นๆ  เพราะเห็นว่าค่ารักษาแพงขึ้นเรื่อยๆ
แต่สาเหตุที่ค่ารักษาของข้าราชการเพิ่มขึ้นมากจนสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัดก็เพราะว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับราคาค่าบริการทางการแพทย์ ค่าผ่าตัด ค่ายา ฯลฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมในปีพ.ศ. 2547 เนื่องจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองน้อยกว่ารายจ่ายจริง จึงต้องขึ้นราคาค่าบริการต่างๆ และอัตราค่าบริการเหล่านี้ ก็จะเรียกเก็บได้จากประชาชนที่จ่ายเงินเอง ข้าราชการหรือจากผู้ใช้สิทธิประกันสังคม
สาเหตุแห่งปัญหาของระบบการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย
 จากการอธิบายในข้อ2 จะเห็นได้ว่า ปัญหาของมาตรฐานการบริการทางการแพทย์และปัญหาในการประกันสุขภาพของประชาชนไทย ล้วนมีรากเหง้า(สาเหตุ)แห่งปัญหาจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ทั้งสิ้น

พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์
     จากการสัมมนาเรื่อง “แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัญหา อุปสรรค สิ่งท้าทายในการพัฒนา ความสำเร็จและความเสี่ยง” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 นั้น นักกฎหมายมหาชนที่เป็นวิทยากรในการสัมมนาผู้หนึ่ง ได้กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ทำให้เกิดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปรียบเหมือนเป็นเนื้องอกของกระทรวง เพราะรัฐมนตรี ไม่สามารถสั่งการให้สปสช.ปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลได้ และสปสช.เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด เพื่อใช้ในการบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน แต่สปสช.ไม่รับฟังปัญหาของโรงพยาบาล แต่ใช้อำนาจเงินออกคำสั่งให้โรงพยาบาลต้องดำเนินการตามระเบียบที่สปสช.เป็นผู้กำหนด โดยที่ระเบียบเหล่านั้น ก็ก้าวล่วง(ละเมิด) การปฏิบัติงานของบุคลากรแพทย์ เภสัชกร อย่างชัดเจน และเสนอความเห็นว่า ควรยุบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาเป็นกรมๆหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถบริหารงานในความรับผิดชอบได้อย่างเหมาะสมตามนโยบายของรัฐบาล

การจัดสรรงบประมาณในหลักประกันสุขภาพ โดยการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ขึ้นมาบริหารกองทุนปีละแสนล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดินตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น นอกจากจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการดำเนินงานของสปสช.ให้ทำตามนโยบายของรัฐบาลได้ ดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีผลกระทบต่อระบบงบประมาณแผ่นดินอย่างมาก เพราะงบประมาณที่ใช้จ่ายในระบบนี้ต้องเพิ่มมากขึ้นทุกปีในอัตรามากกว่าการเพิ่มงบประมาณแผ่นดินทั้งประเทศและจะกลายเป็นภาระหนักของงบประมาณแผ่นดินในอนาคต
แต่ผลกระทบของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้มีผลกระทบต่อระบบการบริการด้านสุขภาพของประเทศ กล่าวคือ
1. งบประมาณในการให้บริการไม่เพียงพอ และขาดงบประมาณในการพัฒนาวิชาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์
2. ขาดแคลนบุคลากรทุกระดับ
3. ประชาชนได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
4. มาตรฐานการบริการทางการแพทย์ตกต่ำ

วิธีการแก้ปัญหาในระบบบริการด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ
1.ตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบบริการและระบบการประกันสุขภาพ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคน
2. แก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบในการบริการด้านสุขภาพ ในเรื่องการขาดแคลนงบประมาณ บุคลากร ป้องกันความเสียหายของประชาชน
3. ออกพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ. ....  เพื่อให้สามารถจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีจำนวนเพียงพอในการทำงานบริการด้านสุขภาพได้อย่างเหมาะสมกับภาระงาน เพื่อสามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานของการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทำงานคุณภาพเพื่อประชาชน โดยการเปิดโอกาสให้มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ พอเทียบได้กับผู้มีคุณวุฒิเหมือนกันในภาคเอกชน
4. จัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมในโรงพยาบาลแต่ละระดับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างมีมาตรฐานและปลอดภัย รวมทั้งมีระบบส่งต่อที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับประชาชน
5. ส่งเสริมบุคลากรด้านสาธารณสุขให้ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการสร้างสุขภาพของตนเองและครอบครัว ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ และสามารถดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วยได้เอง เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการไปใช้บริการโรงพยาบาล โดยที่ประชาชนก็มีสุขภาพดี
6. สภาวิชาชีพด้านสุขภาพควรกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการทำงานของบุคลากรวิชาชีพ เพื่อให้แระชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพ
7. สร้างระบบในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เช่นการกำหนดเวลานัดหมายในการไปรับบริการ การมีส่วนร่วมจ่ายเงินค่าบริการ ในกลุ่มประชาชนที่ไม่ยากจนทั้งนี้เพื่อที่ประชาชนจะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศด้วย
8. กระทรวงสาธารณสุขต้องส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ  ป้องกันการเกิดโรคและอุบัติเหตุ ( positive health behavior )และส่งเสริมการสร้างระบบการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหาร และสาธารณูปโภคให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ