ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาของสาธารณสุขและแพทย์ในประเทศไทย-วารสารคลินิก(02/2550)  (อ่าน 3066 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
บทความเก่า แต่น่าอ่าน(ถ้ายังไม่อ่าน) ยาวหน่อยนะ
คอลัมน์ :ข่าวสารจาก เลขาธิการแพทยสภา
นักเขียนหมอชาวบ้าน :นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์แพทย์ที่จุฬาฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2514 ที่ออกไปสอนในต่างจังหวัดทุกปีๆ ละ 10-30 ครั้งมาจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งเป็นอนุกรรมการตรวจเยี่ยมแพทย์เพิ่มพูนทักษะของจุฬาฯ ซึ่งทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากแพทยสภามาหลายปี ให้ดูแลแพทย์และโรงพยาบาลในภาคตะวันออกและอีสานใต้ เป็นเลขาธิการแพทยสภา 4 ปี เป็นกรรมการ การแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม 2 วาระติดกัน (4 ปี) เว้น 2 ปี และกำลังเป็นอีกในปัจจุบันนี้ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ม. 41 ของกรุงเทพมหานคร, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. ผมมีประสบการณ์ ความคิดเกี่ยวกับแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ถึงแม้ผมไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ เอง ตั้งแต่ท่านรัฐมนตรี ท่านปลัด ฯลฯ ลงมา คงมีผู้ที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ มากกว่าผมไม่กี่ท่าน หรือไม่มีเลย!

จากประสบการณ์ของผมๆ เห็นปัญหาของประเทศทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์โรงพยาบาล ดังนี้
1) แพทย์มีน้อยไปทั่วประเทศ.
2) การกระจายแพทย์ยังไม่ดีพอ ทำให้ต่างจังหวัดขาดแพทย์มากกว่ากรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ เช่น ใน กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีแพทย์ 13,000 คน ต่างจังหวัดมี 17,000 คน! ทำให้แพทย์ในต่างจังหวัดมีน้อย ต้องทำงานหนักมาก มีผู้ป่วยมาก อยู่เวรมาก อดนอน เสี่ยงต่อการฟ้องร้องและยังได้รับเงินเดือนน้อย ฯลฯ.
3) มีโรงพยาบาลทุกอำเภอ ซึ่งอาจไม่มีความจำเป็น.
4) โรงพยาบาลชุมชนมีแพทย์ที่จบไม่ถึง 1 ปี (3-4 เดือนต่อปี) หรือจบเป็นปีที่ 2 หรือปีที่ 3 เป็นผู้ทำงาน หรือเป็นถึงผู้อำนวยการ ซึ่งไม่เหมาะสม เพราะยังไม่มีประสบการณ์ และจะอยู่ไม่นาน จึงไม่มีความต่อเนื่อง ไม่ยุติธรรมต่อแพทย์ ผู้ป่วย และแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนควรเป็นแพทย์สาขาใด.
5) การตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ ไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ ไม่ได้ให้แพทยสภาไปร่วมคิดข้อดี ข้อเสีย เช่น ตั้งที่ไหน เมื่อไหร่ ฯลฯ ตั้งแต่ต้น ขณะนี้เปิดแล้ว 23 แห่ง กำลังจะเปิดอีก 2 แห่งใน 2 ปี การผลิตแพทย์เพิ่มนั้นดี แต่จะผลิตที่ไหน อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่อง ประเด็นที่สำคัญคือต้องผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ! คณะแพทยศาสตร์ที่จะเปิดต้องมีความพร้อมพอสมควรก่อนเปิด ไม่ใช่เปิดทั้งๆ ที่มีคณบดีเป็นแพทย์ท่านเดียว!
6) เงินเดือนแพทย์ (และข้าราชการอื่นๆ ทุกๆ อาชีพ) ต้องเป็นไปตามความเป็นจริงของค่าครองชีพ ข้าราชการทุกคนต้องอยู่ได้ ตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จากเงินเดือนราชการเท่านั้น โดยไม่มีความจำเป็นที่จะไปทำร้าน โรงพยาบาลเอกชน หรือทำธุรกิจอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด ผมมีความเห็นว่าต้องเพิ่มเงินเดือน ไม่ใช่ให้เงินตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ มิฉะนั้นเวลาเกษียณอายุราชการ เงินบำนาญจะคิดจากเงินเดือนเท่านั้น ทำให้ข้าราชการบำนาญมีเงินบำนาญน้อยมาก.
7) โรงเรียนต้องมีคุณภาพและมีอยู่ทั่วประเทศ จะได้ช่วยให้แพทย์อยู่ชนบทได้.
8) แพทย์เองต้องเป็นคนที่ดี แพทย์ที่เก่ง ฯลฯ.
9) งบประมาณ เช่น ค่าเหมาจ่ายรายหัวต่อปีของ สปสช. ประกันสังคม ฯลฯ ต้องมีมากกว่านี้ ต้องได้เร็วกว่านี้ โรงพยาบาลที่มีประชากรน้อยควรได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ.
10) ต้องมีผู้บริหารที่ดี กระตุ้น สนับสนุน ผู้ใต้บังคับบัญชา.

วิธีแก้ปัญหา
1) เกี่ยวกับการที่มีแพทย์น้อยในต่างจังหวัด ใน ระยะสั้นถ้ารัฐบาลจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นทันที สามารถทำได้เลยด้วยการเพิ่มเงินเดือนแพทย์ให้พอกับความเป็นอยู่ เพราะในขณะนี้เงินเดือนแพทย์ไม่พอกับความเป็นอยู่ แพทย์จึงต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะทำร้าน ทำโรงพยาบาลเอกชนได้ ถ้าให้แพทย์เสียสละไปอยู่ต่างจังหวัด แพทย์จะมีโอกาสทำร้าน ทำโรงพยาบาลเอกชนได้น้อย แต่แพทย์เองต้องรู้จักพอด้วย. ขณะนี้แพทย์ที่กำลังใช้ทุนในช่วง 3 ปีแรกหลังจบนั้นได้เงินเดือน ค่าอยู่เวร ค่าไม่ทำร้าน ฯลฯ ระหว่าง 25,000-80,000 บาท! แต่พออยู่ประจำแล้วค่าตอบแทนจะลดลง เพราะอยู่เวรตลอดเวลาไม่ได้! รัฐบาลต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ที่รู้จักพอไปอยู่ต่างจังหวัดได้ เพราะผู้ที่จบ board ต่างๆ ที่ทำงานในชนบทอาจได้ 20,000-30,000 บาท แต่เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ทำเอกชนอาจได้ 100,000-200,000 บาท ฉะนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายที่จะค่อยๆ ปรับเงินเดือนข้าราชการทุกอาชีพ จนพวกเราอยู่ได้จากเงินเดือนเท่านั้น โดยมีสิทธิซื้อบ้าน ซื้อรถอย่างไม่ฟุ่มเฟือย ได้จากเงินเดือน รัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องกลัวใครจะนินทา ต้องวางระบบเงินเดือนข้าราชการให้เท่ากับมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ต้องวางระบบไว้ ค่อยปรับเป็นระยะๆ. ประเทศไทยมีทรัพยากรมาก รัฐบาลต้องหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเงินเดือน เพื่อการพัฒนา อาจคิดเก็บภาษีรวดเดียวร้อยละ 20 เพื่อเป็นการดึงคนอีกมากที่ไม่ยอมเสียภาษี และรัฐบาลจะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่ ค่าเงินที่หายไปกับการคอรัปชัน ฯลฯ.

ถ้าเพิ่มเงินเดือนแพทย์ทันที จะมีแพทย์พอสมควรที่จะยินดีไปอยู่ต่างจังหวัดทันที จะทำให้สถานการณ์ของชนบทดีขึ้นบ้างพอสมควร.

2) ควรพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะมีโรงพยาบาลในทุกอำเภอ ต้องดูความใกล้ ไกล จากอำเภอนี้กับโรงพยาบาลอื่นๆ บางอำเภอไม่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาล แต่ควรมี polyclinic ที่ดีมากกว่า เช่น มีแพทย์อาวุโส 6-7 คน ทำหน้าที่ day care อาจผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ ถ้าจะผ่าตัดใหญ่ให้ส่งโรงพยาบาล. ทุกโรงพยาบาลต้องมีหมอผ่าตัด หมอดมยา ไม่ควรกระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ไปอยู่ทั่วไป ควรรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไว้ที่โรงพยาบาลทั่วไป (ซึ่งอาจเป็นโรงพยาบาลในอำเภอก็ได้) โรงพยาบาลศูนย์ และมีระบบส่งต่อที่ดีจะดีกว่า มีระบบ GP (polyclinic) มากๆ ไม่มีประโยชน์ที่จะมีโรงพยาบาลชุมชน ที่มีแพทย์ 2-4 คน และยังเป็นแพทย์ที่จบใหม่เกือบทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วโรงพยาบาลเช่นนี้ก็คือ GP clinic ดีๆ นั่นเอง. ถ้าโรงพยาบาลชุมชนมีศัลยแพทย์ก็จะเป็นการเสียเปล่า เพราะคนเดียวทำอะไรก็ไม่ได้ อยู่เวรคนเดียวทั้งปีก็แย่ หมอดมยาก็ไม่มี ฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องพิจารณาปรับความคิดเกี่ยวกับเรื่องโรงพยาบาลชุมชน เพราะขณะนี้แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนไม่ค่อยมีใครกล้าผ่าตัดแล้ว โรงพยาบาลต่างๆ ถ้ามีโรงพยาบาลต้องผ่าตัดได้ ถ้ามีนโยบายที่จะให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นคล้ายๆ polyclinic เท่านั้น ต้องประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง จะได้ไม่คาดหวังเกินไป.

3) แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชน (อำเภอ) ควรเป็นแพทย์อาวุโส ที่ใช้ทุนครบแล้ว (คือจบ พ.บ. แล้วเกิน 3 ปีและถ้าได้ board GP ได้ก็จะดี) จะได้มีประสบการณ์ มีสายสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องระหว่างแพทย์ โรงพยาบาล กับประชาชน สังคม ส่วนจะมีแพทย์ใช้ทุนไปอยู่ด้วยเป็น "ส่วนเกิน" ก็ได้. แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างในขณะนี้ควรเป็นแพทย์สาขาอะไรบ้าง? เท่าที่ผมคิดได้ในขณะนี้-ในสภาพโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน-ควรเป็นแพทย์ ทางด้าน GP รัฐบาลเดิม หรือกระทรวงสาธารณสุขอยากให้มี GP มากๆ แต่ก็อีก-ไม่มีระบบรองรับคุณหมอเหล่านี้ ทำให้ขณะนี้ไม่ค่อยมีใครเข้าเรียนสาขานี้.

4) ผลิตแพทย์เพิ่มอย่างมีคุณภาพ ผมคิดว่าคณะแพทย์ 23 แห่งที่เปิดแล้ว และกำลังจะเปิดปีนี้ และปีหน้าอีก 2 แห่ง รวมเป็น 25 แห่งนั้นน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับประเทศไทย ถ้าจะเปิดอีกต้องดูถึงความจำเป็น เหมาะสมจริงๆ ว่าควรจะเปิดที่ไหน เมื่อไหร่ ทั้งนี้ควรให้แพทยสภาไปร่วมให้ความคิดเห็น ตั้งแต่ต้น. ระหว่างนี้ควรทำโรงเรียนแพทย์ที่เปิดแล้วให้เข้มแข็งมากที่สุดก่อน รัฐบาลดำเนินการผิด คือ ให้เปิดก่อนจึงจะให้งบประมาณ ความจริงต้องให้งบเตรียมการก่อน เมื่อพร้อมจึงเปิด. แพทยสภาไม่เคยคัดค้านการเปิดโรงเรียนแพทย์ใหม่ ขอแต่เพียงต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดที่เมืองนี้หรือ ไม่ พร้อมหรือยังเท่านั้น? เปิดที่เมืองอื่น จะดีกว่าหรือไม่? การที่จะผลิตแพทย์มากขึ้นนั้นต้องรอบคอบมาก แพทย์ที่ผลิตออกมาต้องมีคุณภาพ มิฉะนั้น เวลาไปทำอะไรผิดก็จะถูกฟ้องอีก อีก 10-20 ปี เมื่อผลิตแพทย์พอแล้วจะทำอย่างไรกับโรงเรียนแพทย์ที่มี 25-27 แห่ง! จะยุบหรืออย่างไร? แต่การผลิตแพทย์เพิ่มอย่างเดียวไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาของการขาดแคลนแพทย์ เพราะถ้าไม่ปรับปรุงระบบที่ทำให้แพทย์อยู่ได้ในระบบราชการ การผลิตแพทย์เพิ่มก็จะเป็นการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อภาคเอกชน! เพราะเงินเดือนแตกต่างกันมากระหว่างภาครัฐกับเอกชน รัฐบาลต้องปรับ เงินเดือนของภาครัฐให้มีค่าประมาณร้อยละ 70-80 ของภาคเอกชน จึงจะไม่เกิด brain drain!

นี่เป็นการขัดแย้งของนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าที่มี โครงการหลักประกันสุขภาพ, สปสช., หรือ "30 บาท", และยังพยายามหนุนให้ประเทศไทยเป็น medical hub! ขณะนี้ถึงไม่ไปประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ ประเทศไทยก็เป็น medical hub อยู่แล้ว คือมีชาวต่างประเทศมารักษาในประเทศไทยถึง 1 ล้านคนต่อปี! เราไม่ต้องไปกระตุ้นให้มีผู้ป่วยต่างประเทศมากเร็วเกินไป เราต้องทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐแข็งแรง ให้แพทย์ภาครัฐอยู่ได้ดีพอสมควร เมื่อนั้นจึงจะเร่งกระตุ้น สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น medical hub มากกว่านี้ ถ้าทำเร็วไปแพทย์ภาครัฐจะลาออกหมด โครงการ สปสช. ทำให้แพทย์ภาครัฐต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ยิ่งหนักก็ยิ่งเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง เงินก็ไม่ได้เพิ่ม!

5) ห้องฉุกเฉินต้องมีหมอที่เป็นผู้ใหญ่อยู่เวรตลอดเวลาในอนาคต ขณะนี้ ทุกโรงพยาบาลที่ห้อง ER จะมีแต่แพทย์ที่เป็นเด็กที่สุดอยู่เวร! บางแห่งตามแพทย์ผู้ใหญ่มาได้ยาก ที่จุฬาเองยังเป็นแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 เท่านั้น (นอกเวลาราชการ) กระทรวงและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต้องมีนโยบายผลิตแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินให้เพียงพอสำหรับโรงพยาบาลของตนเอง คืออย่างน้อยโรงพยาบาลควรมีแพทย์ทางสาขานี้ 5-6 คน อยู่เวรคนละ 8 ชั่วโมง ฯลฯ และเพื่อเป็นการทดแทนผู้ที่หยุดพักผ่อนบ้าง.

6) แพทย์ควรเป็นคนที่ดี แพทย์ที่เก่ง ที่มีความรู้รอบตัว มีสุขภาพที่ดี รวมทั้งมีศิลปะในการสื่อสารที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีศีลธรรม จริยธรรมที่ดีงาม.

จากประสบการณ์ของ ผมที่ไปเยี่ยมแพทย์มาทั่วที่ได้เห็นการฟ้องร้องที่แพทยสภา ประกันสังคม สปสช. ผมพบว่าแพทย์ผู้ใหญ่ตามโรงพยาบาลต่างๆ บ่นเกี่ยวกับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แพทย์ใช้ทุน ว่าไม่ค่อยดูผู้ป่วย ไม่เก่งทางคลินิก บ่นว่าแพทย์สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน งานหนักไม่ค่อยสู้ อยากได้แต่ไม่อยากทำ! (เอาแต่ได้) เอาแต่สั่งการตรวจเพิ่มเติม ไม่สนใจผู้ป่วย แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าครูบาอาจารย์ทุกๆ คน โดยเฉพาะที่สูงอายุเช่นผม จะเน้นการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่เก่ง แล้วต้องตรวจเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จากวิธีง่ายๆ ไปยาก จากถูกไปแพง จากไม่เจ็บตัวไปสู่วิธีการที่อาจเจ็บตัว. ผมอยากเห็นแพทย์เรามีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ เก่งกว่านี้ ละเอียด รอบคอบ เห็นอกเห็นใจผู้ป่วยมากกว่านี้. ผมไม่คิดว่าผมมีมาตรฐานสูงไป แต่ผมคิดว่าพวกเราจำนวนไม่น้อยที่มาตรฐานต่ำไป โดยสรุปก็คือนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน หรือแม้แต่แพทย์ประจำบ้านต่อยอด ยังเรียนไม่เป็น พูดไม่เป็น สรุปหรือจับประเด็นไม่เป็น คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ครูบาอาจารย์ ต้องสอนวิธีเรียนให้นิสิตแพทย์ให้ได้ นิสิตแพทย์ตอนเข้ามาสู่คณะแพทย์มักเป็นเด็กที่ฉลาด เรียนเก่ง แต่ตอนออกมาเป็นแพทย์มักไม่ค่อยเก่งเท่าที่ควร ไม่ค่อยพัฒนาตามศักยภาพ เพราะระบบการเรียนแพทย์มีแต่ท่องๆ ไม่ค่อยได้ใช้สมอง ใช้ความคิด เพราะมีข้อมูลเยอะมาก ที่ต้องจำ เด็กเลยท่องลูกเดียว เราต้องเริ่มตั้งแต่คณะแพทยศาสตร์เอา "ว่าที่"อาจารย์มาฝึกเรื่องการเรียนการสอน ให้เป็นครูที่ดีให้ได้. ปัจจุบันนี้ทราบว่าผู้ที่เรียนเพื่อไปเป็นครูจริงๆ มีระบบที่ต้องเรียนเพื่อจะเป็นครูด้วย ด้วยเหตุนี้เองผมจึงห่วงเรื่องที่จะเอาแพทย์ที่อยู่ตามโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หรือแม้แต่โรงพยาบาลชุมชน มาเป็น "ครู" แพทย์ ซึ่งงาน ก็หนักมากอยู่แล้ว ยังต้องมาสอนในสิ่งที่เขาไม่ถนัด ไม่พร้อมด้วย แต่แน่ละ ถ้าเขายอมทำและทำไป 2-3 ปี จะเกิดสิ่งที่ดีต่อเขาเอง ต่อโรงพยาบาล เพราะจะมีการพัฒนาเรื่องการเรียนการสอนขึ้นเรื่อยๆ.

แพทย์ที่ดีจะ ต้องมีผู้ป่วยอยู่ในหัวใจ ดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด ด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ต้องเขียนหน้าป้ายอย่างสรุป จับประเด็นเป็น เขียนให้อ่านออก ต้องมีความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วย ญาติ และผู้ร่วมงาน. นอกจากนั้น แพทย์จะต้องทำการศึกษาต่อเนื่อง และเนื่องจากในแต่ละวันจะมีข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ออกมามาก แพทย์จะต้องเรียนเป็น หาแหล่งข้อมูลเป็น จับประเด็นเป็น ต้องขยัน ไม่เห็นแก่ได้ รู้จักพอ ต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ต้องอดทน เสียสละ ต้องมีวินัย ไม่ทำผิดกฎ ระเบียบ กฎหมาย ต้องรู้ความสามารถ ของตนเอง ต้องปรึกษาแพทย์อื่นๆ เมื่อเหมาะสม ต้องส่งต่อเมื่อเหมาะสม.

ผมเอง ดีใจที่ได้เป็นแพทย์ ทั้งๆ ที่อยากเป็นตำรวจ ทหาร เหมือนคุณพ่อ แต่คุณพ่อท่านมองการไกล ท่านขอให้ผมเป็นหมอ ผมก็ยอมเป็นทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่ชอบ คิดว่าไม่เก่งพอ กลัวเลือด กลัว โรงพยาบาล หมอ พยาบาล และผี! แต่ตอนนี้ผมมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสช่วยให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วย ไม่ตาย ไม่ทุกข์ทรมานมาก ผมพูดเสมอว่าแพทย์ที่ดีและเก่งนั้น ก็คือเจ้าพ่อในทางที่ดีนั่นเอง เพราะเรามีอาวุธที่ดีอยู่ในมือ อาวุธคือการช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ทรมาน ฉะนั้นถ้าเราทั้งดีและเก่ง ไม่ว่าใครก็ต้องพึ่งเรา ไม่ว่าจะเป็น ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา คหบดี ประชาชน ถ้าเราดีและเก่ง หมอจะรวยทุกคน เพียงแต่จะรวยมากหรือรวยน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำนิยามของแต่ละท่านเองว่าอะไรคือ "รวย" !? รวยของผมคือตามคำนิยามของ "เศรษฐกิจพอเพียง" แพทย์เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่มีคนให้เงินและยังยกมือไหว้เรา?!

สำหรับ ผู้บริหาร ผมอยากให้ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่หัวหน้าหน่วย หัวหน้าภาค (แผนก) คณบดี ผู้อำนวยการ สาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการ อธิบดี ปลัดกระทรวง นายกสมาคมแพทย์ต่างๆ ประธานราชวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งผู้บริหารแพทยสภา รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นนักวางแผน นักพัฒนา ชอบพัฒนา ไม่ชอบอยู่นิ่ง ต้องกระตุ้นและสนับสนุนลูกน้อง มีความยุติธรรม ใช้คนทุกคนให้เหมาะกับความสามารถของแต่ละคน ต้องเป็นนักมองเห็นปัญหา ออกไปหาปัญหาเพื่อแก้ ไม่ใช่รอให้ปัญหามาหาเรา ต้องคิดทุกวิถีทางที่จะให้งานภายใต้การกำกับของตนเองก้าวหน้าไปได้อย่างดี ต้องฟังความเห็นของทุกๆ คน ฟังเก่ง พูดเก่ง ตัดสินใจเก่ง หลังหาข้อมูลเก่ง ผู้บริหารไม่ควรเป็นผู้บริหารแล้วอยู่เฉยๆ รอให้หมดวาระเท่านั้น ต้องอยากทำงาน ต้องมองอุปสรรค มองปัญหาว่าเป็นการท้าทาย ต้องสนุกกับงาน ต้องใจเย็น ต้องเข้าได้กับทุกๆ คน.

ประเด็นที่สำคัญที่สุด ผู้บริหารต้องมีจุดยืนที่ ถูกต้อง ถ้าเราดีและเก่ง เรื่องของแพทย์ไม่มีใครรู้ดี ไปกว่าแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี (ที่ไม่ใช่แพทย์หรือถึงแม้เป็นแพทย์) แต่เราต้อง "ขายของ" ให้เก่ง ด้วยการเสนอข้อมูล เหตุผล ให้ผู้บริหารเหนือเรารับทราบข้อมูลของเราอย่างเป็นมวย! นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมพูดเสมอว่าพวกเรา "ขายของ" ไม่เป็น คือเสนอความคิดเห็นของตัวเองไม่เก่ง เราต้องเสนอความเห็นด้วยเหตุผล โดยไม่ต้องไปทะเลาะ หรือกล่าวหาใคร แต่ทั้งนี้ถึงแม้เราเสนอข้อมูลดีแล้ว ผู้บริหารประเทศอาจตัดสินเป็นอย่างอื่นก็ได้ เพราะท่านอาจเห็นภาพรวมกว้างกว่าเราและเห็นว่ามีปัญหาอย่างอื่นสำคัญหรือ เร่งด่วนกว่าของเรา เราเองก็ต้องฟังเหตุผล เปิดใจกว้าง.

ถ้าแพทย์ทุกคนเป็นทั้งคนดี แพทย์ที่เก่ง มีความสามัคคีกันและทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม ผมว่าแพทย์เราจะทำอะไร ขออะไรก็ย่อมได้ และเมื่อนั้น สังคม ประชาชนจะศรัทธาเรามาก.

 
พินิจ กุลละวณิชย์ พ.บ.
ศาสตราภิชาน, เลขาธิการแพทยสภา