ผู้บรรยายต่อมา คือ นส.พิกุล บัณฑิตพานิชชา ผู้ปฏิบัติงานสายวิชาชีพพยาบาล ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์(การแพทย์)บุรีรัมย์ ได้กล่าวว่า การที่สปสช.พูดว่า “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ได้ผลจริงหรือไม่ เพราะผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลศูนย์มีมากมายจนล้นออกมานอกระเบียง สถานที่แออัดยัดเยียดผู้ป่วยไม่มีเตียงนอน ต้องนอนบนเปล นอนเตียงเสริม นอนข้างบันได นอนระเบียงทางเดิน นอนบนพื้น
ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ประชาชนจ่ายเงินน้อยลง มีปัญหาการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลมากขึ้น บุคลากรมีงานล้นมือ
บุคลากรการพยาบาลต้องทำงานหนัก ขึ้นเวรเดือนละ 28-35 วันต่อเดือน ผู้ป่วยหนักก็มีมาก ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อหายใจ ไม่มีห้องผู้ป่วยหนักโดยเฉพาะ บุคลากรพยาบาลมีงานล้นมือ มีความเครียดสูง เป็นโรคหัวใจ ปวดหัว ไมเกรน ความดัน เบาหวาน เป็นอัมพาต และเสียชีวิต สุขภาพจิตถดถอย ต้องเข้าพบจิตแพทย์เป็นจำนวนมาก พบว่าพยาบาลหัวหน้าตึกต้องไปพบจิตแพทย์ถึง 40 % มีความเครียดมากถึงพยายามฆ่าตัวตาย 2 คน ฆ่าสำเร็จไป 1 คน ไม่มีเวลาให้ครอบครัว สามีนอกใจ บุตรเกเร ความก้าวหน้าทางวิชาชีพไม่มี ตำแหน่งตัน ทำให้ท้อถอย หมดกำลังใจทำงาน
เกิดการแก้ไขด้วยตนเองเช่นย้ายสถานที่ทำงาน จากรพศ.ไปรพ.ช.ศัลยแพทย์ขอย้ายไปรพ.ช..ทั้งหมด บางคนก็ลาออกไปอยู่เอกชน หรือทำธุรกิจส่วนตัว
บุคลากรมีน้อย ทำให้พยาบาลอายุมากๆก็ยังต้องขึ้นเวรกลางคืน จนเกษียณ หาบุคลากรใหม่มาเพิ่มได้มาน้อย แต่ทำงานมีผลงาน ( productivity) สูงถึง 200%
นส.พิกุล ยังได้เสนอแนะในการแก้ปัญหาคือ
1.ควรทบทวนระบบใหม่ กำหนดการไปรับบริการตามขั้นตอน จากระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ
2.ควรทบทวนการจัดสรรงบประมาณใหม่ จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริงของโรค
3.ควรพิจารณาแก้ไขความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เพราะเป็นสาขาขาดแคลน ควรส่งเสริมให้มีการเลื่อนระดับและเงินเดือนได้ โดยไม่ต้องรอตำแหน่ง โดยกพ.ควรสนับสนุน
4.ขอเสนอให้แยกออกมาจากกพ. เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ