ต่อมาเป็นการบรรยายของนางพัชรี ศิริศักดิ์ เภสัชกร โรงพยาบาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงปัญหาที่พบเห็นจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ประชาชนที่ยากจนจริงๆ ไม่สามารถเข้าถึงบริการ เพราะไม่มีเงินเดินทางมาโรงพยาบาลหลายๆแห่งได้ แต่ผู้ที่ไม่จนจริงมีการไป shopping ในการรักษาโรคหลายแห่ง มีผู้ป่วยอพยพ โยกย้ายที่อยู่ ทำให้มีการใช้สิทธิไม่ตามที่เป็นจริง
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่นมะเร็งต่างๆ สปสช.ก็จะจัดเป็นโปรแกรมรักษาที่สั่งตรงจากสปสช. กำหนดคำจำกัดความของโรค ต้องทำตามขั้นตอนการลงทะเบียนภายในเวลาจำกัด ต้องลงทะเบียนปีละครั้ง (ตามปีงบประมาณ) ถ้าทำไม่ทันภายในกำหนด เลยเวลาแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องเสียโอกาสในการได้รับการรักษาทันที ต้องรอให้สปสช.ตอบรับมาก่อนจึงจะเบิกค่ายาในการรักษาได้ การลงทะเบียนก็รอการตรวจสอบจากสปสช.นาน
นอกจากนั้นสปสช.ยังไปตกลงกับองค์การเภสัชกรรม ในการจัดซื้อยาให้โรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลไม่มีอิสระในการจัดซื้อยา ทำให้ถูกตำหนิจากผู้ตรวจราชการว่า โรงพยาบาลใช้งบประมาณน้อยกว่ากำหนดในการซื้อยาจากองค์การเภสัช และสปสช.แทนที่จะทำตามภาระหน้าที่คือจ่ายเงินค่าบริการให้โรงพยาบาล กลับไปให้องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ซื้อยาจากบริษัทอื่น มาส่งให้โรงพยาบาลอีกทีหนึ่ง และสปสช.จะได้รับเงิน kick back จากองค์การเภสัชกรรม แทนกระทรวงสาธารณสุข
และสปสช.กำหนดแบบฟอร์มและวิธีการในการลงทะเบียน รายงานผู้ป่วยแต่ละโรคมีหลายแบบ หลายมาตรฐาน ทำให้เกิดความยุ่งยากสับสนในการทำงาน
สปสช.คอยควบคุมการสั่งใช้ยา การเบิกจ่ายยา สั่งการโดยไม่สนใจต่อการ feedback ของผู้ปฏิบัติงานทำให้แพทย์ เภสัชกรไม่มีอิสระในการปฏิบัติวิชาชีพ ผู้ป่วยไม่มีทางเลือก รักษามากแต่ได้เงินไม่เท่ากับที่จ่ายไปในการรักษา บางอย่างก็ไม่ยอมจ่ายเงิน เช่นค่าตรวจ Lab
การรักษาบางอย่างก็สั่งให้ใช้ยาเพียงอย่างเดียว เหมือนกับเป็นการทดลองยาในมนุษย์โดยไม่ต้องผ่านคณะอนุกรรมการจริยธรรม ลิดรอนสิทธิของผู้ป่วยโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง เอาเงินที่ควรจะจ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์ มาซื้อยาเอง โดยได้ผลประโยชน์ และเอาเงินที่เหลือไปทำโครงการรักษาต่างๆและแจกเงินให้เป็นแรงจูงใจให้โรงพยาบาลอยากเข้าร่วมโครงการ